วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธฺมโม



ประวัติและปฏิปทา หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธฺมโม
อัตโนประวัติ  
หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธมฺโมมีนามเดิมว่า แตงอ่อน บุตรศรี เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีจอ ณ บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณนา อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ นาย  พันธ์ บุตรศรี  มารดาชื่อ นาง มุ่ย บุตรศรี  ต่อมา ครอบครัวของท่านได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านหนองนาหาร ตำบลนาซอ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
 การบรรพชาและอุปสมบท
ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ วัดเสบุญเรือง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอาจารย์อินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเสบุญเรือง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยมีพระอาจารย์อินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอธิการบัว เป็นพระกรรมวาจาจารย์   
ญัตติเป็นธรรมยุต
 หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม ได้ญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗ ณ พัทธสีมาวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระเดชพระคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
 มอบกายถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น   
ภายหลังจากได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตแล้ว หลวงตาแตงอ่อนได้ไปอยู่ศึกษาธรรม ข้อวัตรปฏิบัติกับ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร
หลวงตาท่านเล่าว่า ในพรรษา ๔ ก่อนที่จะเดินทางเข้าไปที่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น ได้นิมิตถึงท่านพระอาจารย์มั่น ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นองค์ท่านพระอาจารย์มั่นมาก่อนเลย เคยได้ยินแต่ชื่อท่าน ท่านมาปรากฏให้เห็นขณะหลวงตากำลังนั่งสมาธิอยู่ โดยนิมิตเห็นท่านพระอาจารย์ มั่น เดินมายืนตรงหน้า  แล้วหันหลังกลับมานั่งสมาธิทับองค์หลวงตา จากนั้นหลวงตาก็ตื่นขึ้น และคิดว่าสงสัยเราจะได้เข้าไปบ้านหนองผือแน่ ครั้นไปถึงที่วัดบ้านหนองผือแล้ว หลวงตาจึงทราบว่า เป็นองค์ท่านพระอาจารย์มั่น
หลวงตาแตงอ่อน ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจครั้งแรกในเมตตาธรรมของหลวงปู่มั่น ช่วงที่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือว่าเราจะไปกราบนมัสการท่าน เห็นพระภิกษุสามเณรเอาน้ำร้อนเข้าไปให้ท่านฉัน พระเณรขึ้นไปกราบท่าน เราก็ขึ้นไปด้วย ท่านทักว่า พระมาจากไหนแล้วท่านเมตตาถามว่า ท่านจะไปไหน ?”                 
         หลวงตากราบเรียนท่านว่า กระผมคิดจะกลับไปบ้านวา
         ท่านกล่าวว่า อันนี้ไม่โมทนานำแล้ว ลงไปนั่นมันร้อน ไปภาวนาข้างนอกมันร้อน อยู่แถวภูเขานี้ดีกว่า เรียกว่าท่านให้โอกาสแล้ว ท่านจะให้อยู่แล้วนี่ ให้อยู่ถิ่นของท่านมันเย็นอยู่แล้ว หมู่เพื่อนภิกษุมาจับแขนแล้วบอกว่า ท่านให้อยู่นะนี่ ไปขอนิสัยกับท่านอยู่เด้อพอเสร็จธุระแล้วหลวงตาครองผ้าจีวร ไปกราบขอนิสัยกับท่าน หลวงตาเลยอยู่ด้วยกับท่าน ไม่ได้ออกไปไหนจนท่านมรณภาพลง
          หลวงตาแตงอ่อน เล่าถึงข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ว่า ท่านมีกิจวัตรประจำทุกวันแหละ ท่านเดินจงกรมทั้งตอนเช้าและตอนเย็น ตอนเช้าท่านออกจากห้องมีพระมารับบริขาร บาตร จีวร ของท่านไปสู่ที่ฉัน ส่วนท่านก็เดินจงกรมก่อน เสร็จแล้วก็กลับขึ้นไปศาลา แล้วครองจีวรไปบิณฑบาต
          เมื่อถึงเวลาท่านออกจากวัดไปบิณฑบาตนั้น ภิกษุสามเณรออกไปรอท่านที่บ้านหนองผือก่อน เมื่อท่านไปถึงก็นำบาตรมาถวายท่าน แล้วก็เดินตามท่านเป็นแถว ชาวบ้านหนองผือจะตั้งแถวรอใส่บาตร ๓ สายด้วยกัน พอท่านรับบิณฑบาตแล้วก็ไปนั่งม้านั่งที่เขาเตรียมไว้ เพื่อจะให้พร ยถา สัพพี.....ฯ แก่เขา แล้วก็เดินไปรับบิณฑบาตและให้พรจนครบทุกสายก็กลับวัด  ญาติโยมบ้านหนองผือ ไม่ค่อยมารับพรในวัดหรอกเพราะท่านให้พรในหมู่บ้านทุกวันแล้ว อุบาสกอุบาสิกามีไม่มาก มาแต่เฉพาะผู้ชายที่มารับใช้ภิกษุสามเณร ล้างบาตร ล้างกระโถน และเก็บสิ่งเก็บของ ถ้ามีโยมผู้หญิงมาปฏิบัติ ท่านให้ไปอยู่กับแม่ชีข้างนอก (บ้านพักแม่ชีอยู่นอกวัด) โยมเอาอาหารมาวางที่หอฉัน
            ผู้ชายเขาก็เก็บมา ผู้หญิงเข้ามาใกล้ไม่ได้ ท่านไม่ให้เกี่ยวข้องกับฆราวาสผู้หญิง หลังจากท่านฉันจังหันแล้วเป็นอันว่าเสร็จกิจวัตรของท่านในช่วงเช้า จากนั้นท่านก็ขึ้นกุฏิพักผ่อน จะมีพระภิกษุที่เคยมานวดเส้นนวดถวายท่านเป็นประจำ พอท่านพักผ่อนแล้ว ท่านก็ลุกมานั่งสมาธิ บางทีท่านก็นั่งอยู่โคนต้นไม้ในตอนกลางวัน บางวันท่านก็เดินดูภิกษุสามเณรซักผ้าจีวร แล้วท่านก็เดินดูบริเวณรอบๆ วัด พอสมควรก็กลับกุฏิ
           พอย่ำค่ำท่านอบรมภิกษุสามเณร มีอยู่ตลอดทุกวัน ใครจะศึกษาธรรมะ กราบขอโอกาสเรียนถามท่าน ท่านก็อธิบายธรรมะธัมโมเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ภิกษุสามเณรฟัง ฟังอยู่ที่นั้นก็เข้าใจดี ได้พิจารณาอาคันตุกะภิกษุที่อยู่ในนั้นก็ได้ยินได้ฟังด้วยกัน ท่านอบรมสั่งสอนให้เดินจงกรมภาวนานั่งสมาธิ มีความพากเพียรเราก็ทำไปตามคำสอนของท่านนี่แหละ มีโอกาสเวลาใดก็ไปนั่งสมาธิเดินจงกรมภาวนาไม่ว่าเช้า-เย็น-กลางคืน
              กติกาของท่านนั้น เช้า-เย็น ต้องทำความเพียรตลอด ตื่นแต่เช้ากวาดวัดเสนาสนะก่อนท่านพระอาจารย์มั่นออกจากห้อง ตอนเย็นก็ช่วยกันกวาดวัด บริเวณวัดและกุฏิที่พัก ภิกษุสามเณรต้องปฏิบัติตามข้อวัตร การตักน้ำใช้นั้นเปลี่ยนกันตักน้ำขึ้นจากบ่อ ตักน้ำตักสองคน พวกหาบก็หาบไปใส่ไว้ทุกกุฏิ บ่อน้ำในวัดป่าบ้านหนองผือ ไปตักไม่เคยแห้งใสปานแก้ว สองคนตักๆ เทใส่ องค์นี้ก็ตักเทจ๊าก องค์นั้นก็ตักเทจ๊าก เปลี่ยนกันทำ พวกหามก็หามไป น้ำบ่อไม่ลึก เอาไม้ขอตักเอา”  
              หลวงตาแตงอ่อน ได้เล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เอาไว้ว่า ท่านเป็นผู้มีความสำรวมในอิริยาบถ มีอิริยาบถสำรวมตลอด ท่านไม่มองนั่นมองนี่ ไม่ยิ้มไม่หัว ท่านไม่ค่อยดูใครๆ ถ้ามองพระภิกษุสามเณรทางสายตา หากไปกระทบ ภิกษุสามเณรยืนอยู่ไม่ได้ ต้องนั่งเลย สายตาท่านคมมาก ท่านมองไปแต่ละครั้งบาดคมมาก ท่านไม่ดุหรอกแต่พูดคล้ายๆ ดุ ใจท่านไม่ดุเลยท่านเป็นพระอริยเจ้า สมควรที่เป็นพระอริยเจ้า ท่านพระอาจารย์มั่นมีปฏิปทาตามแบบแผนที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้
           ปฏิปทาของท่านก็ธรรมดา ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแต่ว่าท่านพยายามไม่ให้ภิกษุสามเณรญาติโยมมาสร้างอันนั้นอันนี้ ท่านไม่ให้สร้างหรอก ถ้าสร้างอันนี้ไม่เสร็จก็ให้เลิกไม่ให้ทำ เพราะทำให้ภิกษุสามเณรไม่ได้ภาวนา ที่พักก็ไม่ได้สวยงามอะไรหรอก ทำกระต๊อบๆ ก็พออยู่ได้ ส่วนกุฏิของภิกษุสามเณรและกุฏิของหลวงตานั้น จะเป็นกุฏิหลังเล็กๆ ที่เขาตีไว้ ฝาก็ฝาแถบตอง เอาฝาแถบตองสาน ข้างบนเอาหญ้าแฝกหญ้าคามามุง ข้างล่างนี้จักไม้ไผ่เป็นพื้น แต่ว่าดูดีนะภาวนาดี กุฏิแบบนี้จิตใจมันสงบเข้าสมาธิได้ดี
           สมัยนั้นท่านพระอาจารย์มั่น ให้ถือธุดงควัตรหมด แต่ว่ามันไม่มีอะไรสมัยนั้น ตลอดถึงสำรับจะใส่อาหารก็ไม่ค่อยจะมีหรอก ถาดอะไรๆ รับใส่ข้าวเศษบาตรนี้ ต้องสานเป็นตะกร้าใส่นะ กระโถนก็ไม่มีต้องเอาไม้ไผ่มาตัด กระโถนอย่างธรรมดาไม่มีหรอก บางทีกระบอกไม้ไผ่โตๆ ไม้ไผ่บ้านก็นำมาตัด ท่านพระอาจารย์มั่นก็ใช้กระโถนที่ทำมาจากกระบอกไม้ไผ่นั่นแหละ
           ดูเหมือนตอนนี้จะมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์บริขารท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส เอาไม้ไผ่มาตัดแล้วก็หาสีมาทา ขัดดีๆ หาสีมาทา ขัดล้างสีมันก็ไม่ออก สมัยนี้ไม่มีหรอกไม่มีกระโถนอย่างนี้ ข้าวเศษบาตรก็เอาใส่ตะกร้า ส่วนกระแป๋งก็สานด้วยไม้ไผ่เอาขี้ชันมาทา ท่านว่ากระแป๋งเสียงมันดัง กระแป๋งไม้ไผ่กระทบมันไม่ดัง
           อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น มีคติอยู่อย่างหนึ่งท่านไม่รับกฐินแต่รับเป็นผ้าบังสุกุล อย่างนายวัน คมนามูลจะไปถวายผ้ากฐิน พอไปถึงท่านก็ถาม คุณวันๆ อะไรนี่ จะถวายผ้ากฐินหรือบังสุกุลนี่เขาก็ไม่ว่าอะไร กราบเรียนท่านว่า แล้วแต่หลวงปู่ขอรับท่านพระอาจารย์มั่นก็บอกไปว่าเอาเตียงไปตั้งซิ เอาผ้าไปวาง เอาฟดไม้ (กิ่งไม้ที่มีใบไม้) ไปปก จะไปบังสุกุลเดี๋ยวนี้
           เถ้าแก่ใฮ เมืองวานรฯ (อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร) ได้นำผ้าและจักรเย็บผ้าพร้อมทั้งสิ่งของต่างๆ เข้าไปวัดป่าบ้านหนองผือ มีศรัทธาจะถวายผ้ากฐินเหมือนกัน ท่านพระอาจารย์มั่นก็ถามว่า เถ้าแก่ใฮเอ๊ย จะมาทำผ้าหรือบังสุกุลล่ะเถ้าแก่ใฮตอบว่า แล้วแต่หลวงปู่ท่านก็ทอดบังสุกุลไปเลย หลวงตาก็เตรียมท่องอปโลกน์กฐินไว้แล้ว หลวงตามหาบัวบอกว่า ท่านเตรียมไว้นะ ถ้าพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นให้ทำก็ทำไปเลย ถ้าท่านไม่ให้ก็แล้วไปสุดท้ายท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่รับกฐิน ให้แต่ทอดบังสุกุล
            ถ้ามีคนมาจากที่ไหนก็ตาม จะมาถวายของ ท่านจะถามก่อนว่า จะเอาอะไร จะรับศีลห้าหรือศีลแปดหากเขาตอบว่า เอาศีลห้าท่านก็บอกว่า เอาศีลห้าก็ว่าตามท่านก็ว่า อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ ศีลห้าไม่ไล่เป็นข้อนะ ท่านไม่ได้ว่า ปาณาติปาตา.....อยู่สองปี....ไม่มีเลย ถ้าญาติโยมที่มาขอศีลแปด ท่านก็จะว่าเหมือนกัน อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ
           หลวงตาก็พูดกับเพื่อนที่อยู่ด้วยกันว่า ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ให้ศีลสักที เรานี่ซ้ำๆ ซากๆ ลูบๆ คลำๆ แต่เรื่องศีลไม่แน่ใจ หลวงปู่ท่านไม่ว่า เพราะศีลเป็นศีล เป็นสมาทานวิรัต สัมปัตตวิรัติ สมุทเฉทวิรัต มันมีอยู่แล้ว
 อยู่ปรนนิบัติถวายงานหลวงปู่มั่น
               หลวงตาแตงอ่อน ได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า หลวงตามีหน้าที่ประจำหลายอย่าง คือ ตอนเช้าเณรเป็นคนชงโอวัลตินใส่แก้ว หลวงตาเป็นคนเทน้ำร้อนใส่ชงถวายท่าน ท่านฉันโอวัลตินพร้อมยาเม็ดทุกวัน ยานั้นเป็นยาแก้ไอ ตอนเช้าเมื่อท่านออกมาจากห้องพัก หลวงตาก็เอารองเท้าท่านออกมาเช็ดก่อน จับรองเท้าไว้ถวายให้ท่านสวมรองเท้าก่อนท่านเดิน จากนั้นหลวงตาก็เก็บกระโถน และก็ล้างน้ำมูตร น้ำคูถ เสร็จแล้วจากนั้นก็จัดกุฏิของท่าน ส่วนเวจกุฎี (ส้วม) ของท่าน หลวงตาต้องไปล้างเอาน้ำไปชำระไปเช็ดไปถู ไม่มีกระดาษชำระแบบนี้หรอก เอาใบตองกล้วยน่ะมาตัด ตัดประมาณคืบหนึ่งเลือกเอาแบบอ่อนๆ เนื้อหนังท่านอ่อน ไม่อย่างนั้นใบตองจะบาดเอา ตอนหลังท่านป่วยไปส้วมไม่ได้ ต้องมาเจาะกุฏิ พอท่านถ่ายเสร็จก็เอาอุจจาระไปเลยไม่ให้มี บางคืนก็ไม่มีอุจจาระดอก ถ้าท้องท่านไม่เสีย เกี่ยวกับทางจงกรมก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นฝุ่นหลวงตาก็เอาน้ำไปรด มันแห้งก็เอาฟอย (ไม้กวาด) มากวาดให้เกลี้ยง ไม่ให้มีอะไรทุกวันเป็นอย่างนี้ นอกจากนั้นคณะสงฆ์มอบให้หลวงตาเป็นผู้รักษาคลังสงฆ์นั้น อะไรๆ ที่ใช้อยู่ในวัดเอามาเก็บรวมกันหมด ใครเอาไปก็รู้ คลังสงฆ์ต้องมีบัญชี ใครขาดแคลนอะไรหลวงตาเป็นผู้แจกจ่าย มีหน้าที่ดูแลสิ่งของ ผู้ทำหน้าที่ดูแลนั้น มี ๒ รูป คือ ท่านอาจารย์วันและหลวงตา ท่านอาจารย์วันรักษาคลังผ้า ผ้าผ่อนที่เขาถวายมาท่านเก็บไว้ ภิกษุสามเณรขาดแคลนก็ไปหาท่านองค์นี้ จับเอามาวัดศอกแล้วพากันตัดเย็บช่วยกัน ท่านพระอาจารย์มั่น ให้ตัดเย็บแจกกันให้เป็นระเบียบ ท่านให้ปฏิบัติอย่างนั้นไม่ให้เก็บไว้ ไม่ได้ใช้ท่านไม่เอา ส่วนหลวงตามีหน้าที่ดูแลสิ่งของรักษาเครื่องใช้ไม้สอย มีด พร้า เครื่องยาแก้ไข้เภสัชต่างๆ รักษาคลังสงฆ์ ญาติโยมนำมาก็มาเก็บรักษา อยากใช้อะไรก็มาหาหลวงตา หลวงตาก็จ่ายตามต้องการ ตอนเย็นพระเณรมาสรงน้ำท่านพระอาจารย์มั่น หลวงตาเป็นคนปั้น (ปิด) ผ้าอาบและถ่าย (เปลี่ยน) ผ้าใหม่ถวายท่าน ผู้มีหน้าที่ดูแลปรนนิบัติท่านจะเป็นลูกศิษย์ลูกหา ผู้มีพรรษาต่ำพรรษาน้อยครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่ไม่มีหรอก ช่วงนั้นผู้ที่อยู่ดูแลปรนนิบัติท่านก็มี หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่อ่อนสา สุขกาโร, หลวงปู่วัน อุตฺตโม,หลวงปู่คำพอง ติสฺโส, อาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ และอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต อยู่วัดถ้ำกลองเพล เป็นสามเณร
 ได้รับความเมตตาจากหลวงปู่มั่น
               หลวงตาแตงอ่อน ได้เล่าถึงการที่ได้รับความเมตตาจากหลวงปู่มั่น ว่า วันหนึ่งหลวงตาไปซักผ้าอยู่องค์เดียว ซักผ้าแล้วก็ไปนั่งพักผ่อนบนศาลา ท่านพระอาจารย์มั่นเดินลงมาจากกุฏิ ไม่มีใครในระหว่างเที่ยงวัน ท่านเดินถือผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาศาลา เดินขึ้นไปยืนตรงหน้าหลวงตา แล้วเอาผ้าเช็ดหน้ามาวางบนศรีษะหลวงตา ท่านไม่พูดอะไรแล้วก็เดินลงศาลากลับไปกุฏิท่าน
               หลวงตาขนหัวลุก คิดว่าท่านพระอาจารย์มั่นนี้เมตตาเราถึงที่สุดแล้ว ท่านเมตตากับคนโง่ พระโง่ คนไม่ฉลาด ปรกติท่านไม่แสดงออกอย่างนี้ อะไรๆ ที่เขาหวงไว้ ของดีๆ ผ้าดีๆ น่ะ เอาให้แต่หลวงตา ผ้าจีวรที่เขาเอามาแต่โน้น...ศรีสะเกษ สวยๆ ตัดถวายท่าน หรือสังฆาฏิเก่าของท่านที่ท่านเปลี่ยนก็มอบให้หลวงตา เพราะคนขนาดเดียวกัน (องค์เท่ากัน) ท่านให้จีวร สังฆาฏิ และผ้าเช็ดหน้าของท่าน ท่านคิดสงสารอะไรไม่รู้ เดินมากลางวันถือผ้ามาวางใส่หัวให้เลย
 ดุภายใน
            หลวงตาแตงอ่อน เล่าถึงการดุของหลวงปู่มั่น ว่า ภิกษุสามเณรด้วยกันเขาสงสัยว่า.....ทำไมองค์อื่นท่านพระอาจารย์มั่นดุมาก ทำไมภิกษุองค์เล็กๆ นี้ไม่ดุสักที เขาไม่รู้หรอกถ้าท่านดุก็ดุภายใน ไม่ดุภายนอกเสียงไม่ออก ท่านพูดออกมาธรรมะมันตำใจ หลวงตาไม่โดนท่านดุหรอกนะ แต่ท่านดุภายในหากหลวงตาภาวนา ที่มันค้างๆ คาๆ ติดขัดในการภาวนา ที่มันไม่ไหลไม่ลื่นท่านเทศน์เข้าไปเลย เรียกว่าท่านจี้เข้าไปเลย ท่านจี้เราแรง แล้วบาดลึกเรากลับตัวอนุโมทนาเลย
             ภาวนามัวเมา ไม่รู้ไปไหนมาไหน ท่านก็ต้องสอนแบบที่ว่าท่านไม่ให้ประมาท แต่ใจของท่านเมตตามาก หลวงตาไม่เคยกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่น แต่ท่านแสดงธรรมอธิบายไปเลย ตอบข้อข้องใจหรือปัญหาธรรม ระหว่างอบรมธรรมะพระภิกษุสามเณรช่วงเย็นทุกวัน พอหลวงตาคิดอะไรท่านเทศน์ออกมาเลย เทศน์มาภายในเลยแต่คนอื่นไม่รู้ หลวงตารู้ภายในคนเดียว จะดุออกมาภายนอกนนั้นไม่มี
              หลวงตาอยู่บ้านหนองผือเขาอัศจรรย์เหมือนกันพวกเพื่อนน่ะ ภิกษุสามเณรองค์อื่นท่านก็พูดว่าเสียงดังๆ หลวงตานี้ท่านไม่พูดเลย หลวงตาคิดว่าเราเป็นคนโง่ เราเป็นคนซื่อสัตย์นี่ เราไม่ทำอะไรให้ท่านหนักอกหนักใจ ท่านก็ไม่ว่าอะไร หลวงตายังคิดว่ากิจวัตรในวัดนั้น ถ้าคนอื่นไม่ทำเราทำได้คนเดียว คิดว่ามีศรัทธาถึงขนาดนั้นภูมิใจขนาดนั้น เช่น อะไรทุกสิ่งที่มันเป็นกิจวัตรอยู่ในนั้น กล้าทำได้คนเดียว เพราะเรามีศรัทธา มีความเชื่อมั่นอยู่กับท่าน ถึงแม้นหลวงตาจะไม่ได้กราบเรียนถามปัญหาต่อท่านพระอาจารย์มั่น แต่ท่านรู้ หลวงตาคิดว่าท่านพระอาจารย์มั่น ท่านมีญาณหยั่งรู้ คืนหนึ่งหลวงตาไปปรึกษากับท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม เรื่องข้อวัตรปฏิบัตินี้ ตอนเช้าท่านก็บอกว่า เออเรารู้แล้ว
              ภิกษุทั้งหลายไม่รู้ว่าเราปรึกษากับท่านอาจารย์วัน นึกว่าท่านจะดุเป็นเรื่องที่ภิกษุสนใจมาก เราก็มองเห็นอาจารย์วันยิ้ม ที่เราปรึกษากันเมื่อคืนนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นรู้เราแล้วนี่ หลวงตามอบกายถวายชีวิตกับท่าน คิดปรึกษาข้อวัตรปฏิบัติที่จะเข้าสู่ธรรมะของท่านพระอาจารย์มั่น”  
  พระธรรมเทศนาของหลวงปู่มั่น
              หลวงตาแตงอ่อน เล่าถึงเหตุการณ์ที่หลวงปู่มั่นท่านเทศนาธรรมครั้งใหญ่เอาไว้ว่า ท่านเทศน์ใหญ่ๆ ปีหนึ่งสองสามครั้ง ที่เป็นวันสำคัญ เช่น มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เป็นต้น ญาติโยมก็มาในเวลานั้นนอกนั้นก็ไม่มีโอกาส ท่านเทศน์สูงได้ต่ำได้ วันนี้เทศน์เรื่องนี้ปฏิบัติตามได้ วันหน้าท่านไม่เทศน์ ท่านเทศน์ขยับไปอีก ตามท่านไม่ทัน ท่านละเอียดมาก ธรรมะท่านมีหลายแขนง  เราปฏิบัติตามท่านยังไม่ได้ ก็ฟังท่านไปเรื่อยๆ ฟังไปๆ บันทึกไว้ในใจอันไหนไม่ได้ก็แล้วไป ธรรมะที่ท่านอบรมภิกษุสามเณรนั้น เป็นธรรมะปรมัตถ์อย่างลึกซึ้ง แต่ก่อนไม่ได้อ่านตำรับตำราที่ท่านเอามาเทศน์ ท่านเทศน์ชาดก พุทธประวัติ พระสูตรอะไรๆ ต่างๆ ท่านเอามาเทศน์บ่อย ที่หนองผือท่านพูดเรื่องพญานาคบ่อย ท่านเล่าให้ฟังว่าพญานาคเขามีฤทธิ์มาคารวะท่านพระอาจารย์มั่น แล้วก็เหาะไปเลย เรื่องอดีตชาติของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็พูดท่านว่าท่านเคยเป็นกระแต ไปกัดไม้กระบกกิน แล้วท่านก็หัวเราะภพชาติของท่าน
            ยุคนั้นมีพระเถรานุเถระที่เข้าไปกราบนมัสการท่านประจำ ก็มีเช่น เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เทศกาลเข้าพรรษาทุกปี ท่านก็มาคารวะฟังเทศน์ของท่านพระอาจารย์มั่น หลวงพ่อลี ธมฺมธโร แห่งวัดอโศการาม ท่านก็เข้ามาวัดป่าบ้านหนองผือก่อนจะไปอินเดีย ส่วน หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่กู่ ธัมมทินโน, หลวงปู่หลุย จันทสาโร และหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ท่านเหล่านี้อยู่ใกล้ เข้ามาวันพระ มาคารวะท่านพระอาจารย์มั่นแล้วก็ออกไป ไม่ได้อยู่ประจำ
 อยู่กับหลวงปู่มั่น จนวาระสุดท้าย
           หลวงตาแตงอ่อน เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ว่า หลวงตาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น จนปีท่านมรณภาพ ช่วงสุดท้ายหลวงตาอยู่จนถึงตอนท่านเคลื่อนไปสกลนคร แต่ออกไปบ้านภู่นั้นหลวงตาไม่ได้ออกไป เขามอบให้แต่ง (จัด) บริขาร หลวงตาแต่งบริขารแล้วก็ตามท่านออกมา แวะวัดป่าบ้านภู่ไปเฝ้าท่านอยู่ ท่านออกไปแล้วสองวันหลวงตาจึงตามไป ตอนที่จะเคลื่อนท่านออกจากวัดป่าบ้านหนองผือนั้น วันนั้นหลวงปู่เทสก์เข้ามาเป็นเพราะท่านพระอาจารย์มั่นป่วยโซมากแล้ว ได้กราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นว่า ขอนิมนต์อาราธนาออกไปข้างนอก มันลำบากลูกศิษย์ลูกหาจะมาคารวะ
         ท่านกล่าวว่า ออกไปไม่ลำบากเหรอ ไม่ลำบากก็หามเอารถก็ไม่มี มีแต่เกวียนก็ออกจากบ้านหนองผือ อยู่วัดป่าบ้านภู่ไม่กี่วัน ลำบากเสนาสนะ ฝนมันตกเดือนสิบสองฝนยังไม่หยุด ภิกษุสามเณรลำบากหาที่อยู่ไม่ได้
          หลวงปู่เทสก์ท่านก็มากราบขออาราธนาท่านพระอาจารย์มั่นว่า เสนาสนะไม่พอ ลูกศิษย์ลูกหามากมาย ขออาราธนาไปวัดป่าสุทธาวาส ที่โน่นกว้างขวางท่านก็เคลื่อนไปวัดป่าสุทธาวาสในวันนั้น ไปวันนั้นก็มรณภาพวันนั้น หลวงตาก็ตามไป
           แต่ก่อนนั้นรถไม่มี รถที่มารับนั้นมีโยมนุ่ม ชุวานนท์ คันเดียวเที่ยวขนพระขนเณร กลับไปกลับมาอยู่จนค่ำกว่าจะครบ จนไปถึงวัดป่าสุทธาวาส ช่วงนั้นหลวงปู่เทสก์ เป็นพระผู้ใหญ่ เคยอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น มีความชอบกับท่าน หลวงปู่เทสก์เป็นคนจริง เชี่ยวชาญในการพูดด้วย ศิษย์ผู้อื่นไม่กล้ากราบเรียนอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่น
สังฆานุสติ
           หลวงตาแตงอ่อน กล่าวว่า คำของพ่อแม่ครูอาจารย์นั้นหลวงตายกใส่เกล้าตลอด เดินจงกรมภาวนาก็ทำตามท่านสอน สำหรับความดีของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านเป็นผู้มีเมตตาสูงเยือกเย็นมาก อยู่กับท่านมีแต่ความเย็นใจ ทำอะไรก็ระลึกถึงท่านตลอด เป็นอนุสสติอย่างหนึ่ง ไม่ได้ว่างเว้นเลย
  สร้างสำนักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน
          ภายหลังจากถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าสุทธาวาสแล้ว หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธมฺโม ท่านก็ได้ออกเที่ยวเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปตามสถานที่ต่างๆ ตามป่าเทือกเขาภูพาน ป่าช้า ป่ารกชัฏ และได้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อาทิเช่น หลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดอิสระธรรม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร, หลวงพ่อลี ธมฺมธโร วัดทรายงาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
          ต่อมาได้มาสร้างสำนักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ดำเนินตามหลักปฏิปทาของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต รวมไปถึงเป็นที่อบรมศีลธรรมแก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และคณะศรัทธาญาติโยมทั่วไป อาทิเช่น วัดอรัญญวิเวก บ้านกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส, วัดธรรมนิเวศวนาราม อำเภอวานรนิวาส, วัดภูคอกม้า, วัดป่าโชคไพศาล อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันนี้ หลวงตาแตงอ่อน ท่านได้พำนักปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดป่าโชคไพศาล บ้านหนองนาหาร ซึ่งเป็นบ้านเกิดขององค์ท่าน
          หลวงตาแตงอ่อน ท่านเป็นพระที่มีความเมตตา สุขุม สงบเยือกเย็น สันโดษ มักน้อย อยู่แบบสมถะเรียบง่ายไม่หรูหรา เป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กอปรด้วยศีลและธรรม มีศีลาจาริยวัตรที่งดงาม ควรค่าแก่การกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจโดยแท้ ท่านได้สอนสั่งพระภิกษุสามเณร รวมทั้งประชาชนญาติโยมทั้งใกล้ไกล ให้รู้จักศีลธรรม เป็นคนดีของสังคม ไม่เบียดเบียนกัน ให้รู้รักสามัคคี รวมทั้งให้เป็นคนที่มีหลักธรรมประจำใจ และให้หมั่นกระทำบำเพ็ญในการให้ทาน

....................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น