ปางที่ ๑ อวโลกิเตศวรถือกิ่งหลิว (杨柳观音หยางจือกวนอิน)
รูปลักษณะ :
พระหัตถ์ซ้ายทำอภัยมุทรา พระหัตถ์ขวาถือกิ่งหลิ่ว ประทับบนหินผา
พระหัตถ์ที่ถือกิ่งหลิ่วเป็นไภษัชยธรรม (ธรรมอันเป็นยา) สามารถขจัดโรคทั้งหลายได้
ในกวนอิมพันมือก็มีมือหนึ่งที่ถือกิ่งหลิ่ว ซึ่งในคัมภีร์สหัสรกรสหัสรเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาเมตตาจิตธารณี
(大正No. 1064 ) และคัมภีร์สหัสรรัศมีเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์คุหยธรรมสูตร (大正No. 1065 ) กล่าวไว้ว่า “พระอวโลกิเตศวรทรงถือกิ่งหลิ่วและคนโทบริสุทธิ์
ทรงสาดน้ำคืออมฤตธรรมให้ปกแผ่ไปทั่วด้วยจิตมีประกอบด้วยความเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่
เพื่อดับทุกข์ดับภัยแก่สรรพสัตว์”
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๔๓ ข้อที่ ๑๘ กล่าวว่า “พระองค์ (อวโลกิเตศวร) เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยบารมีแห่งกำลังอิทธิฤทธิ์
ทรงศึกษาในวิทยาและอุบายอย่างกว้างขวาง ทรงปราฏกในโลกทุกส่วน
จากทุกทิศและในพุทธเกษตรทั้งปวง”
อธิบาย : เป็นปางแรกของกวนอิน
๓๓ ปาง และเป็นที่นิยมมากปางหนึ่ง
กวนอินปางนี้ถือความทรงพระคุณมากในเรื่องการรักษาโรค ใหโชคลาภ
ช่วยให้ฝนตกและขจัดภัยต่าง ๆ จึงมีอีกชื่อว่า ไภษัชยราชาอวโลกิเตศวร
ในประเทศจีนมีตำนานอยู่ว่า “ครั้งหนึ่งพระอวโลกิเตศวรเสด็จไปโปรดชนบทที่แห้งแล้วในประเทศจีน
ประชาชนเกือบทั้งหมดอดอยากยากเข็ญ ไม่มีศีล ไม่มีคุณธรรมเป็นส่วนมาก
พระองค์ทรงแปลงกายเป็นหญิงชราเที่ยวเดินขอทานตามบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้รับความเมตตาใด ๆ
เลย พระองค์ก็ได้ตั้งคำถามและให้คำตอบเป็นปริศนาธรรมต่าง ๆ
จนมีชายอาวุโสชื่อหลิวซื่อเสียน เข้าใจปริศนาธรรมและรู้ว่าเป็นพระอวโลกิเตศวร
จึงขอร้องให้พระองค์ช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนเหล่านั้น
โดยให้ช่วยบันดาลฝนให้ตกจะได้มีน้ำพอเพียงชุ่มชื้นเพียงพอในการเพาะปลูก
เฒ่าหลิวซื่อเสียนจึงได้เรี่ยไรเงินชาวบ้าน สร้างรูปปั้นของท่านไว้บูชา
โดยประดิษฐานที่เขาไถ่ซื่อซาน ทำให้ชาวบ้านหันมาปฏิบัติธรรม
ปางที่ ๒ อวโลกิเตศวรขี่หัวมังกร(นาค) (龍頭觀音หลงโถวกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับบนหัวมังกร
พระหัตถ์ขวาทรงถือกิ่งหลิ่ว พระหัตถ์ซ้ายจับผ้าขวาที่ทรงครอง ทรงครองผ้าสีขาว
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นรูปของเทวดาและนาคเพื่อแสดงธรรม
แก่ผู้ที่สมควรโปรดด้วยรูปเทวดาและนาค”
อธิบาย : คำว่า “หลง” (龍)
ในคัมภีร์พุทธหมายถึงนาค ในคัมภีร์สัทธรรมสติปัฏฐานสี่ ผูกที่ ๑๘
บทที่ว่าด้วยเรื่องของสัตว์เดรัจฉานกล่าวว่า (正法念處經卷十八畜生品) นาคราชจัดเป็นส่วนหนึ่งของเดรัจฉานคติ
เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ไม่ฉลาดไม่มีปัญญา
ปางที่ ๓ อวโลกิเตศวรทรงคัมภีร์ (持經觀音ฉือจิงกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ทรงประทับนั่งอยู่บนหินผา มือขวาถือคัมภีร์
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นพระสาวกแสดงธรรม
แก่พระสาวก”
อธิบาย : คำว่า “สาวก” หมายถึงผู้สดับรับฟัง
ในที่นี้หมายถึงรับฟังคำสั่งสอนมาจากพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าพระสาวก
พระอวโลกิเตศวรทรงถือคัมภีร์ก็เพื่อแสดงธรรม
เนื่องจากพระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์จึงชื่อพระอวโลกิเตศวรทรงคัมภีร์
ปางที่ ๔ ปูรณรัศมีอวโลกิเตศวร (圓光觀音เวี๋ยนกวงกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับอยู่บนหินผา
พระวรการตั้งตรงปรากฏแสงสว่างที่โชติช่วงยิ่งนัก
เทียบในสมันตมุข : “แม้บางครั้งต้องประสบทุกข์จากอาญาของพระราชา
จวนถูกประหาร ชีวิตจะจบสิ้น ด้วยอำนาจของการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร
มีดก็จะหักชำรุดไปเป็นท่อน ๆ”
อธิบาย : คำว่า “ปูรณ” หมายถึงเต็ม,บริบูรณ์ “รัศมี” หมายถึงแสงสว่าง
เพราะพระอวโลกิเตศวรทรงกอรปไปด้วยความรักความกรุณาที่ยิ่งใหญ่
เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏออกมาของแสงสว่างนั้น ดังที่ในสมันตมุขก็ได้กล่าวไว้ว่า “รัศมีอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน สุริยปัญญา(ปัญญาเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์)
ทำลายความมืดมนทั้งหลาย สามารถกำราบภัยจากลมและไฟ รัศมีปกแผ่ทั่วโลกธาตุ”
ปางที่ ๕ อวโลกิเตศวรทรงจาริก (遊戲觀音โหยวสีกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ปางนี้ทรงประทับอยู่เหนือเมฆ เข่าข้างซ้ายตั้งตรง มือขวายันร่างกายไว้
เทียบในสมันตมุข : “แม้บางคราวเมื่อถูกคนร้ายไล่
จนพลัดตกจากเขาวชิระ(เขาสูง เขาที่แข็งแกร่ง)
เมื่อได้ระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรด้วยอำนาจนั้น
จักไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อยหรือแม้เพียงขนเส้นเดียว”
อธิบาย :
การอบรมสั่งสอนธรรมของพระอวโลกิเตศวรนั้นแพร่กระจายออกไปอย่างไม่มีสิ่งใดที่มาขว้างกันได้
ทรงปรากฏขึ้นได้ทุกที่ทุกสถาน เป็นอิสระในทุกสิ่ง จึงถูกกล่าวขานว่า
พระอวโลกิเตศวรทรงจาริก หมายถึงการเที่ยวไปอย่างเป็นอิสระประกอบด้วยความเพลิดเพลิน
เพราะได้นิรมาณกายไปช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย
ปางที่ ๖ พระปัณฑรวาสินีอวโลกิเตศวร (白衣觀音ป๋ายอีกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ทรงประทับเหนือดอกบัวสีขาว ทรงอาภรณ์สีขาว เหนือโขดหินที่ลาดด้วยหญ้า
ทำท่าสมาธิมุทรา
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นพระภิกษุ,ภิกษุณีแสดงธรรม
แก่พระพระภิกษุ,ภิกษุณี”
อธิบาย : ธิเบตเรียกว่า “Gos-dkar-mo” สีขาวเป็นสีพื้นฐานของทุก
ๆ สี เทียบกับหมื่นคุณูปการที่พร้อมพรั่ง อีกยังเทียบได้กับโพธิจิตที่บริสุทธิ์สะอาด
กวนอินปางนี้เป็นที่รู้จักของคนส่วนมาก นิยมปั้นรูปเคารพ
แต่มักรู้จักในชื่อกวนอินเสื้อขาว
ในครรภ์ธาตุมณฑลของพระอวโลกิเตศวรปางนี้ร่างกายของพระองค์ปรากฏสีขาวและเหลือง
ครองอาภรณ์สีขาว พระหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัวสีขาวเฝ้าปรารถนาให้ได้มาซึ่งภัยที่ถูกดับสลายแล้ว
พระหัตถ์ขวาทรงทำพระหัตถ์พร้อมทั้งสภาพที่ปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์
โดยกางนิ้วทั้งห้าออกแล้วยื่นออกไปข้างนอกตัวตั้งอยู่ในระดับเอว
นั่งขัดสมาธิบนดอกบัวสีแดงเรื่อ ๆ (อ่อนกว่าสีชมพู)
ปางที่ ๗ อวโลกิเตศวรนอนบัว (蓮臥觀音เหลียนว่อกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ปางนี้มีรูปลักษณะพนมมือ ทรงประทับนั่งอยู่บนกลีบของดอกบัว
เทียบในสมันตมุข :
เทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปของพระจุลลจักรพรรดิ
เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปของพระพระจุลลจักรพรรดิได้
อธิบาย :
อธิบายว่าปางนี้ทรงประทับนั่งหรือนอนอยู่บนกลีบของดอกบัว
เปรียบกับการกระทำของพระจุลลจักรพรรดิในสมันตมุขปริวรรตได้ว่า
อุปมาดังพระจุลลจักรพรรดิที่ทรงมีพระวรกายที่สูงศักดิ์ประทับนั่งหรือนอนอยู่บนดอกบัว
ปางที่ ๘ อวโลกิเตศวรมองน้ำที่ไหลเชี่ยว (瀧見观音หลงเจี้ยนกวนอิน)
รูปลักษณะ : อนึ่งมีชื่อว่า “อวโลกิเตศวรน้ำตก” ปางนี้ทรงพิงอยู่บนแท่นหินผา
เพ่งพินิจพิจารณาการไหลของกระแสน้ำ
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๒
ข้อที่ ๕ กล่าวว่า ถ้าศัตรู (ผู้มีใจประทุษร้าย) ทำให้เขาตกลงไปในกองไฟ
เพื่อหวังจะฆ่าให้ตาย เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร ไฟก็จะมอดดับไป เหมือนกับถูกน้ำรด
ปางที่ ๙ อวโลกิเตศวรประทานยา (施藥观音ซือเย่ากวนอิน)
รูปลักษณะ :
ปางนี้ทรงประทับบนโขดหินริมสระน้ำ เพ่งพินิจพิจารณาดอกบัว
พระหัตถ์ขวายันแก้มเอาไว้ พระหัตถ์ซ้ายท้าวสะเอ็วเอาไว้
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๓
ข้อที่ ๑๗ กล่าวไว้ว่า “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ผู้มีกำลังญาน อันบริสุทธิ์
ทรงพิจารณาเห็นสัตว์ทั้งหลาย ที่ถูกความทุกข์หลายร้อยประการกดขี่ เบียดเบียน
จึงเป็นผู้คุ้มครองสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งเทวดาให้รอดพ้นจากความทุกข์นั้น”
อธิบาย :
อันทานการให้พร้อมทั้งยาที่ดี ช่วยรักษาโรคภัย ความทุกข์ยากทางกายและใจของสรรพสัตว์ทั้งในด้านที่บวกและด้านลบ
ปางที่ ๑๐ อวโลกิเตศวรตะกร้าปลา (鱼篮观音หวีหลานกวนอิน)
รูปลักษณะ :
บางครั้งก็เรียกว่ากวนอิมปางภรรยาของหม่าหลางฟู่ เพราะเป็นปางเดียวกัน
ดูรายละเอียดในปางที่ ๒๘ ทรงมีปลาตัวใหญ่เป็นพาหนะ พระหัตถ์ถือตะกร้าซึ่งในนั่นมีปลา
เทียบในสมันตมุข :
ฉบับพระกุมารชีพกล่าวว่า “หรือไปพบพานรากษสบาป นาคมีพิษและเหล่าผีเป็นต้น
ด้วยอำนาจระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ก็ไม่กล้าทำร้ายได้เลย”
ปางที่ ๑๑ คุณราชาอวโลกิเตศวร (德王觀音เต๋อหวางกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ปางนี้ทรงนั่งขัดสมาธิบนหินผา พระหัตถ์ขวาทรงถือกิ่งหลิ่ว
พระหัตถ์ซ้ายตั้งอยู่หน้าพระนาภี(สะดือ) บางก็ตั้งตรงอยู่เหนือเข่า
สวมรัตนะมาลาเหนือพระเศียร
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นรูปพระพรหมราชาเพื่อแสดงธรรม
แก่ผู้ที่สมควรแก่ผู้ที่ต้องโปรดด้วยพระพรหมราชาได้”
อธิบาย : เป็นหนึ่งในปางที่ได้รับความนิยม
เนื่องจากพระพรหมราชานั้นเป็นอธิบดีในกามภูมิ มีคุณอันประเสริญยอดเยี่ยม
ดังนั้นจึงกล่าวว่าคุณราชา คือผู้มีคุณที่ยิ่งใหญ่
ปางที่ ๑๒ พระอวโลกิเตศวรแห่งสายน้ำและดวงจันทร์(水月觀音สุยแยว่กวนอิน)
รูปลักษณะ :
ทรงนั่นขัดสมาธิบนโขดหินริมมหาสมุทรมีบัวรองรับ ปางยืนก็มี
พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวที่ยังไม่บาน พระหัตถ์ขวาทรงอภัยมุทรา สายพระเนตรทอดลงต่ำ
ทรงพิจารณาการไหลของกระแสน้ำและเงาของดวงจันทร์ที่ปรากฏในน้ำ บางครั้งพบว่ามี ๓
พระพักตร์ ๖ พระหัตถ์ สามพระหัตถ์ทางซ้ายมือทรงถือรัตนะปทุม สุวรรณจักร หางนกยูง
สามพระหัตถ์ทางขวามือทรงถือดาบคม รัตนมุดดา ดอกอุบล(ดอกบัวเขียว)
พระวรกายมีสีดังแสงพระอาทิตย์ ทรงประทับนั่งอยู่ในรัตนะบรรพต
เทียบในสมันตมุข :
มักจะเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปปัจเจกพุทธเจ้า
เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปพระปัจเจกพุทธเจ้าได้
อธิบาย :
ในทางมนตรยานกวนอินปางนี้ก็คือพระวารีศรีโพธิสัตว์ในครรภ์ธาตุมณฑลของพระอวโลกิเตศวร
มีตำนานเล่ากันต่อ ๆ
มาว่าเป็นตอนที่พระอวโลกิเตศวรเสด็จโปรดวิญญาณผีตายโหงที่เมืองกู่ซู
(เนื่องจากชาวเมืองถูกกองทหารจีนฆ่าตายอย่างไม่เป็นธรรม) พระโพธิสัตว์จึงทรงประทับนั่งบริกรรมพุทธมนต์บนโขดหิน
พระหัตถ์ถือแจกันหยกมีกิ่งหลิ่วปักอยู่
เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณทั้งหลายเป็นเวลา ๔๙ วัน
กวนอินปางนี้เป็นที่นิยมทั้งในจีนและญี่ปุ่น
ในทางธรรมะอาจตีความได้ว่าพระโพธิสัตว์ทรงสอนให้เราพิจารณาเงาดวงจันทร์ในน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลวงหลอก
ไม่มีอยู่จริง รูปทั้งหลายเป็นอย่างเช่นนี้ เมื่อเราเพ่งเล็งเห็นอยู่อย่างนี้แล้ว
ย่อมคลายความยึดมั่นถือมันในรูปได้
ปางที่ ๑๓ พระอวโลกิเตศวรหนึ่งกลีบ (一葉觀音อีแย่กวนอิน)
รูปลักษณะ :
ทรงประทับบนกลีบของดอกบัว ๑ กลีบลอยอยู่บนผิวน้ำ พระชานุ(เข่า)ซ้ายยืดตรง
พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนเข่า พระหัตถ์ขวาห้อยต่ำยันร่างกายเอาไว้
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่
๒๓๙ ย่อหน้าที่ ๑ “ดูก่อนกุลบุตร
สัตว์เหล่าใดท่องจำนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์
ก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์นั้นได้ ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์ทั้งหลายถูกกระแสน้ำพัดพาไป
พึงกระทำการเรียกพระนาม ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์
แม่น้ำทั้งปวงเหล่านั้นจะให้ความรักเอ็นดูแก่สัตวเหล่านั้น ดูก่อนกุลบุตร
ถ้าสัตว์จำนวนร้อยพันหมื่นโกฏิ ลงเรือไปในท่ามกลางสมุทร
ทรัพย์สินที่สร้างไว้เช่นเงิน ทอง แก้วมณี มุดดา เพชร ไพฑูรย์ สังข์ ประพาฬ มรกต
สุมาร์คลวะและมุกแดงเป็นต้น(จะเสียหาย) เรือของเขาถูกพายุพัดไปติดเกาะของรากษส
ถ้าในเรือนั้นพึงมีสัตว์ผู้หนึ่ง
กระทำการเรียกพระนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ เขาเหล่านั้นทั้งหมด
จะรอดพ้นจากเกาะของรากษสนั้น ดูก่อนกุลบุตรเพราะเหตุนี้เอง
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ จึงได้ชื่อว่า อวโลกิเตศวร” อนึ่งยังมักจะเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปนายบ้าน
เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปนายบ้านได้
อธิบาย :
บางครั้งก็เรียกว่าพระอวโลกิเตศวรแห่งกลีบบัว เพราะทรงมีกลีบบัวเป็นพาหนะจึงชื่อว่าพระอวโลกิเตศวรหนึ่งกลีบ
ปางนี้บางครั้งก็เรียกว่าพระอวโลกิเตศวรแห่งทะเลใต้
(ดูรายละเอียดในประวัติผู่ทัวซาน)
ปางที่ ๑๔ นีลกัณฐอวโลกิเตศวร (青頸观音ชิ่นจิ่นกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ลักษณะทางประติมานวิทยาทั่วไปมักในพระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว พระหัตถ์ขวาทรงชูขึ้นระดับอก
ทรงคุกเข่าบนอาสนะ ประทับนั่งอยู่บนโขดหิน
ซึ่งมีที่มาจากพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับพระนีลกัณฐ
เทียบในสมันตมุข :
มักจะเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปพระพุทธเจ้า
เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปพระพุทธเจ้าได้
อธิบาย : นีลกัณฐแปลว่าคอสีนิลหรือสีเขียวคล้ำ
กล่าวกันว่าหากสัตว์เหล่าใดได้ระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรแล้ว
ย่อมห่างไกลจากความทุกข์ยากต่าง ๆ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย
พระอวโลกิเตศวรปางนี้เป็นปางสำคัญปางหนึ่งในทางมนตรยาน
อีกทั้งพบชื่อนี้ในมหากรุณาธารณีสูตร กล่าวกันว่าเมื่อครั้งที่พวกเทวดาได้กวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต
ในทะเลได้เกิดพิษขึ้นมา
เมื่อพระอวโลกิเตศวรเห็นดังนั้นเกรงจะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทั้งหลาย
จึงทรงกลืนกินพิษนั้น จึงทำให้พระศอหรือคอมีสีดำคล้ำ
ปางที่ ๑๕ อุครวติ-อวโลกิเตศวร (威德观音เวยเต๋อกวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว
พระหัตถ์ซ้ายถือวัชระคฑาทรงประทับอยู่บนหินผา
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงปรากฏรูปเป็นเสนาบดี
เพื่อแสดงธรรมโปรดผู้เป็นเสนาบดี”
อธิบาย :
เสนาบดีนั้นเพรียบพร้อมไปด้วยอำนาจและคุณเป็นอเนก ประดุจดังอำนาจคือการกำราบ
มุ่งปกป้องรักษาด้วยความรักความกรุณาคือคุณ รวมอยู่ในพระอวโลกิเตศวร
ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าอุครวติ-อวโลกิเตศวร ผู้มีคุณและพลานุภาพ
ปางที่ ๑๖ พระอายุวัฒนะอวโลกิเตศวร (延命觀音เยี๋ยนมิ่งกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงครองผ้าทิพย์
ทรงสวมมหารัตนะมาลาบนพระเศียร เกยูรกำไลตลอดจนเส้นพระเกศานั้นงดงามยิ่ง
ทรงช่วยเหลือทั้งหลายจึงมีพระหัตถ์ถึง ๒๐ พระหัตถ์ ทางซ้ายจากพระพักตร์ ๑๐
พระหัตถ์แรกทรงถือรัตนะมุดดา ดาบวิเศษ(ดาบรัตนะ) สุวรรณจักร ท่อนไม้วัชระ
ป้ายประกาศไม้ กระดิ่งวัชระใหญ่ กระดิ่งวัชระ ดอกบัวใหญ่ อักษมาลา(ลูกประคำ)
มุทราท่ากำมัด ทางขวาจากพระพักตร์ ๑๐ พระหัตถ์หลังทรงถือหอกเหล็ก ดาบวัชระ
รูปพระพุทธเจ้า วัชระรัตนะ คันฉ่องรัตนะ วัชระบ่วงบาศ วัชระ วัชระคฑา ๕ ยอด
วัชระและอเภตฺริมุทรา(มุทราแห่งความปราศจากความกลัว)
ทรงมีรัศมีที่รุ่งโรจน์ยิ่งนัก
พระบาททั้งสองมีลักษณะของลายกงจักรที่ประกอบด้วยดุมและกง ทรงสถิตมั่นอยู่ในจันทร์จักรบนดอกบัว
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่
๒๔๓ ข้อที่ ๑๒ กล่าวว่า “เวทมนตร์คาถา วิทยาของผู้มีพลัง ยาพิษ ภูต เวตาล
ที่ทำให้ร่างกายถึงความหายนะได้ เมื่อเขาระลึกพระอวโลกิเตศวร
สิ่งเหล่านั้นจะเสื่อมไปในทันที”
อธิบาย : จากข้างต้นพระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายมาเพื่อขจัดเวทมนตร์คาถา
วิทยาของผู้มีพลัง ยาพิษ ภูต เวตาล ที่ทำให้ร่างกายถึงความหายนะได้
ดังนั้นจึงกล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรผู้ทำให้มีอายุยืน
ปางที่ ๑๗ พระอวโลกิเตศวรทรงรัตนะมากมาย (众宝观音จ้งเป่ากวนอิน)
รูปลักษณะ :
ปางนี้ทรงประทับอยู่บนแท่นหินผาริมน้ำ พระบาทเบื้องขวายื่นออกมาประทับอยู่บนหิน
พระหัตถ์ขวากดแผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายตั้งอยู่ระดับพระนาภี (สะดือ) ในระดับที่เหมาะสม
เมื่อมองดูแล้วสงบ
เทียบในสมันตมุข : “หากจะมีสัตว์โลกมีจำนวนนับด้วยร้อย พัน หมื่น แสน ก็ดี ต้องการแสวงหาทอง
เงิน ไพฑูรย์ ผลึก ทับทิม มรกต บุศราคุม อันเป็นของมีค่า
หากันแต่งเรือไปยังทะเลใหญ่ สมมติว่าในระหว่างนั้น
เรือได้ถูกพายุพัดพาไปยังแว่นแคว้นอันเป็นที่อยู่ของรากษส
หากจะมีแม่แต่คนหนึ่งในบรรดาคนเหล่านั้น สวดพระนามพระอวโลกิเตศวร แล้วไซร์
สัตว์โลกเหล่านั้นทุกคนจะได้รับความรอดพ้นจากอันตรายของรากษส
ด้วยเหตุนี้แลพระโพธิสัตว์เจ้าองค์นั้น จึงได้รับสมญานามว่า “อวโลกิเตศวร”
อธิบาย :
อนึ่งยังเทียบได้กับพระอวโลกิเตศวรที่ทรงแสดงธรรมได้ในรูปของเศรษฐี
ดังที่ได้ปรากฏในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร สมันตมุขปริวรรต
ด้วยเหตุเหล่านี้เองกวนอินปางนี้จึงได้ชื่อว่าอวโลกเตศวรทรงรัตนะมากมาย
ปางที่ ๑๘ อวโลกิเตศวรประตูหิน (巖戶观音เอี๋ยนฮู่กวนอิน)
รูปลักษณะ :
ปางนี้ทรงประทับนั่งขัดสมาธิด้วยพระวรกายที่ตั้งตรง บนดอกบัวแล้วพนมมือ
ภายในถ้ำหินปรากฏแสงที่สว่างโชติช่วง
เทียบในสมันตมุข : “เมื่อใดมีงูพิษตลอดจนแมลงมีพิษร้าย มีไอพิษเหมือนควันไฟลุกไหม้
ด้วยอำนาจแห่งการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
ด้วยเสียงของเขานั้นทำให้สัตว์เหล่านั้นหนีหายไป”
อธิบาย :
เหตุที่สัตว์มีพิษเหล่านั้นมักจะอาศัยอยู่ในถ้ำหลายชนิด
หากได้ระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรแล้ว พระองค์ย่อมช่วยให้พ้นภัย ดังนั้นกวนอิมปางนี้จึงมีรูปแบบที่ประทับอยู่ในถ้ำ
ปางที่ ๑๙ พระอวโลกิเตศวรทรงทำความสงบ (能靜觀音เหนิงจิ้งกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ทรงนั่งขัดสมาธิบนโขดหินบริเวณริมทะเล(น้ำ)
พระหัตถ์ทั้งสองวางอยู่บนโขดหินอย่างเป็นธรรมชาติ พระบาทซ้ายยื่นออกมา
พระบาทขวาโค้งงอ แม้มีลมแรงพัดพามาก็ไม่หวั่นไหว ปรากฏลักษณะที่สงบนิ่ง
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่
๒๓๙ ย่อหน้าที่ ๑ “ดูก่อนกุลบุตร
สัตว์เหล่าใดท่องจำนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์
ก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์นั้นได้ ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์ทั้งหลายถูกกระแสน้ำพัดพาไป
พึงกระทำการเรียกพระนาม ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์
แม่น้ำทั้งปวงเหล่านั้นจะให้ความรักเอ็นดูแก่สัตวเหล่านั้น ดูก่อนกุลบุตร
ถ้าสัตว์จำนวนร้อยพันหมื่นโกฏิ ลงเรือไปในท่ามกลางสมุทร
ทรัพย์สินที่สร้างไว้เช่นเงิน ทอง แก้วมณี มุดดา เพชร ไพฑูรย์ สังข์ ประพาฬ มรกต
สุมาร์คลวะและมุกแดงเป็นต้น(จะเสียหาย) เรือของเขาถูกพายุพัดไปติดเกาะของรากษส
ถ้าในเรือนั้นพึงมีสัตว์ผู้หนึ่ง
กระทำการเรียกพระนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ เขาเหล่านั้นทั้งหมด
จะรอดพ้นจากเกาะของรากษสนั้น ดูก่อนกุลบุตรเพราะเหตุนี้เอง
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ จึงได้ชื่อว่า อวโลกิเตศวร” หรือในโศลกฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๒ ข้อที่ ๖ “หากว่าบุคคลทำให้เขาตกไปในมหาสมุทรที่ลึกยิ่ง
(ยากที่จะหยั่งถึง) อันเป็นที่อยู่ของนาค สัตว์น้ำและปีศาจ
เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร เขาก็จะไม่จมลงไปในทะเลหลวง”
อธิบาย : กวนอินปางนี้ที่ชื่อว่าทำความสงบ
เพราะทรงนิรมาณกายไปช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายจึงทำให้เภทภัย ความทุกข์ยากของหายไปได้
จึงได้ชื่อว่าทำความสงบให้เกิดขึ้น
ปางที่ ๒๐ อนุ-อวโลกิเตศวร (阿耨觀音ออโน่วกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ทรงประทับอยู่บนหินผา ทรงครองผ้าทิพย์สีทอง พระหัตถ์ซ้ายถือผ้าอยู่ระดับหน้าท้อง
พระหัตถ์ขวาปล่อยวางไว้บนเข่าขวา พินิจพิจารณาลักษณะของทะเลที่สงบนิ่ง
เทียบในสมันตมุข :
ฉบับของท่านกุมารชีวะกล่าวไว้ว่า “แม้บางครั้งหากพลัดพเนจรไปในทะเลที่กว้างใหญ่
ประสบภัยจากนาค ปลา ผีทั้งหลายเหล่านี้ ด้วยอำนาจของการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร
คลื่นไม่สามารถซัดสาดให้จมน้ำได้”
อธิบาย :
เนื่องด้วยในทะเลที่กว้างใหญ่มีนาคและปลาในสระอโนดาต (อนวตปฺต) อยู่เป็นเหตุปัจจัย
เหตุนั้นจึงกล่าวขานว่า อนุ-อวโลกิเตศวร
ปางที่ ๒๑ พระอเภตฺริอวโลกิเตศวร (阿摩提觀音อาหมอถีกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงมีพระเนตร ๓ ดวง
๔ พระหัตถ์ ทรงราชสีห์สีขาวเป็นพาหนะ มีนั่งบนโขดหินบ้าง ทรงสวมมงกุฎรัตนมาลา
พระหัตถ์ขวากรที่ ๑ ทรงถือดอกบัวสีขาว พระหัตถ์ขวากรที่ ๒ ทรงถือนกหงส์มงคลสีขาว
พระหัตถ์ซ้ายกรที่ ๑ ทรงถือเครื่องดนตรีประเททเครื่องสายรูปหัวนกหงส์ตัวผู้
ซึ่งจำนวนสายจะต่างกันไปตามขนาด พระหัตถ์ซ้ายกรที่ ๒
ทรงถือมกร(สัตว์ทะเลซึ่งอาจจะเป็นปลาใหญ่เช่นเต่าใหญ่หรือปาวาฬ)
พระบาทขวาห้อยลงต่ำ งอพระบาทซ้ายเหยีบลงบนหัวราชสีห์
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นรูปของพระเวสสุวรรณเพื่อแสดงธรรม
แก่ผู้ที่สมควรโปรดด้วยรูปของพระเวสสุวรรณ”
อธิบาย : คำว่า “อเภตฺริ” บ้างก็เขียนว่า “อเภตฺติ”
แปลว่าผู้ไม่มีความกลัว หรือผู้หาความกลัวมิได้
ปางที่ ๒๒ พระปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวร (葉衣觀音แย่อีกวนอิน)
รูปลักษณะ :
มักพบว่าทรงประทับนั่งบนโขดหินที่ลาดด้วยหญ้า
ในคัมภีร์ปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์สูตรกล่าวว่า “ทรงมีรูปเป็นเทวนารี สวมมงกุฎรัตนมาลาบนพระเศียร
ประดิษฐานรูปพระอมิตายุพุทธเจ้าในใจกลางรัตนะมาลา
พระวรกายประดับตกแต่งด้วยเกยูรสร้อยกำไลของมีค่าต่าง ๆ
ตลอดจนปรากฏรัศมีจากพระวรกายสว่างยิ่งนัก ทรงมีถึง ๔ กร กรที่ ๑
ด้านขวาทรงถือผลมงคลไว้ในระดับอก กรที่ ๒ ด้านขวาทรงทำท่าทานประณิธานมุทรา กรที่ ๑
ด้านซ้ายทรงถือขวาน กรที่ ๒ ด้านซ้ายทรงถือบ่วงบาศ ทรงประทับนั่งบนดอกบัว
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระอินทร์ เพื่อการแสดงธรรม
ในรูปของพระอินทร์ได้”
อธิบาย :
กวนอินปางนี้ก็คือพระปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวรในครรภ์ธาตุมณฑล มีพระสูตรที่กล่าวถึงพระองค์เป็นการเฉพาะ
มักถือกันว่ากวนอินปางนี้ทรงประทานความมีอายุยืนความไม่มีโรค คำว่า “ปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” หมายถึงพระอวโลกิเตศวรผู้นุ่งใบไม้แทนผ้า
ปางที่ ๒๓ พระไวฑูรยอวโลกิเตศวร (琉璃觀音หลิวหลีกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงมีกลีบดอกบัวเป็นพาหนะ
ประทับยืนบนผิวน้ำ พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรไวฑูรย
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่
๒๔๓ ข้อที่ ๑๐-๑๑ “ถ้าบุคคล ต้องโทษจองจำอยู่ในหลักประหาร
เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร อาวุธ(ของเพชฌฆาต)ก็จะแตกละเอียด
(เป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่) อีกหนึ่งบ้างท่านก็เทียบกับ “พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระอิศวร
เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของพระอิศวรได้”
อธิบาย : คำว่า “ไวฑูรย์” หรือไพฑูรย์นั้นเป็นอัญมณีชนิดหนึ่งซึ่งมีสีฟ้า
อนึ่งยังมีอีกชื่อว่า “อุตมราชาอวโลกิเตศวร” ซึ่งมีที่มาจากคัมภีร์อุตมราชาอวโลกิเตศวรสูตร พระโพธิสัตว์นั้นช่วยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์
หากท่องพระสูตรนี้หนึ่งพันจบ ผู้ที่ตายแล้วยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้
เรื่องนี้มีที่มาจากในสมัยที่ราชวงศ์เว่ยเหนือแตกออกเป็นเว่ยตะวันออกในระหว่างศักราชไท่ผิงราวค.ศ.๕๓๔-๕๓๗
มีนายทหารผู้หนึ่ง ขณะที่อยู่ในเวลาป้องกันชายแดน ได้สร้างรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรไว้แล้วเคารพไหว้กราบอย่างสม่ำเสมอ
ต่อมาได้โดยสารไปยังพวกฮวนที่อยู่ทางทิศเหนือและทางตะวันออกของจีน
ได้ต้องโทษประหาร ณ ที่นั้น ในระว่างคืนนั้นได้ฝันเห็นพระสมณะรูปหนึ่ง
มาแนะน้ำให้สวดสาธยายพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องพระอวโลกิเตศวรช่วยชีวิต
หลังจากที่ได้ตื่นยอนแล้วก็ท่องได้หนึ่งร้อยจบ
เมื่อเวลาสำเร็จโทษใกล้จะมาถึงเขาได้ท่องครบถึงพันจบพอดี
อาวุธที่จะนำมาประหารนั้นไม่สามารถทำอะไรเขาได้เลย
จึงรอดพ้นความตายมาได้นายคนนั้นจึงได้มากราบไหว้รูปของพระอวโลกิเตศวร
ในคืนที่ได้ฝันเห็นถึงสมณะนั้น สมณะผู้นั้นได้มอบพระสูตรไว้ให้ด้วยมีชื่อว่า “อุตมราชาอวโลกิเตศวรสูตร” หรือ “อายุวัฒนะทศวจีอวโลกิเตศวรสูตร”
ปางที่ ๒๔ พระตาราอวโลกิเตศวร (多羅觀音ตัวหลอกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ทรงประทับยืนอยู่บนก้อนเมฆ บ้างก็ทรงนั่งขัดสมาธิบนโขดหิน
มีลักษณะที่พิจาณาเพ่งมองมาที่สัตว์ทั้งหลาย
ทรงมีร่างเป็นหญิงแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ครองอาภรณ์สีขาวใหม่เอี่ยม
ทรงมีพระวรกายที่งดงามมาก ในเวลาที่ทรงพนมมือ ในมือนั้นทรงถือดอกอุบล(บัวเขียว)
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่
๒๔๓ ข้อที่ ๙ “ถ้าบุคคล ถูกหมู่ศัตรูที่มีอาวุธครบมือล้อมไว้
ด้วยจิตคิดจะเบียดเบียน เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร
ศัตรูก็จะเกิดจิตเมตตาขึ้นในขณะนั้น”
อธิบาย :
พระตารานั้นเป็นนิรมาณกายของพระอวโลกิเตศวร ทรงเพศเป็นหญิง
(ดูลายละเอียดเพิ่มเติมในบทพระแม่ตารา)
ปางที่ ๒๕ พระอวโลกิเตศวรหอยกาบ (蛤蜊觀音เก๋อะลี่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับอยู่ในหอยกาบ
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระโพธิสัตว์ เพื่อการแสดงธรรม
ในรูปของพระโพธิสัตว์ได้”
อธิบาย :
ในบันทึกเรื่องราวพระพุทธเจ้าโดยครอบคลุม(佛祖統紀)
ผูกที่ ๔๒ กล่าวว่าปางนี้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง
สมัยพระเจ้าเหวินจง(文宗)
ราวค.ศ.๘๒๗-๘๔๐ ในตอนที่กษัตริย์พระองค์นี้เริ่มเปิดศักราชแห่งการปกครองใหม่
ๆ กษัตริย์พระองค์นี้โปรดปรานการกินหอยกาบมาก ทุก ๆ วันสัตว์ต่อตายลงเป็นอันมาก
วันหนึ่งผ่าหอยไม่มีผู้ใดผ่าหอยได้เลย จึงได้จุดธูปของพร
ทันใดนั้นหอยกาบก็ได่กลายร่างเป็นรูปพระโพธิสัตว์ในทันที กษัตริย์จึงได้ตรัสเรียกอาจารย์ในนิกายเซน(ฌาน)
มาสอบถามถึงสาเหตุเรื่องนี้
พระสงฆ์นั้นตอบว่าเป็นการเนรมิตการเพื่อแสดงธรรมให้มหาบพิตรเลิกเสวยหอย
การที่พระโพธิสัตว์นั้นปรากฏร่างเป็นสิ่งที่หาได้ยาก
ทำจึงไม่ศรัทธาแล้วเลิกเสวยหอยอีกเล่า กษัตริย์เกิดความปิติยินดี จึงได้มีพระราชโองการให้สร้างรูปกวนอินปางนี้ขึ้นในวัดเป็นคนแรก
ปางที่ ๒๖ ษฑฺฤตวอวโลกิเตศวร (六時觀音ลิ่วสือกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับยืน
พระหัตถ์ขวาทรงถือคัมภีร์ที่จารด้วยใบลาน
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๓
ข้อที่ ๑๘ “พระองค์ (อวโลกิเตศวร) ผู้มีกำลังญาณ อันบริสุทธิ์
ทรงพิจารณาเห็นสัตว์ทั้งหลาย ที่ถูกความทุกข์หลายร้อนประการกดขี่ เบียดเบียน
จึงเป็นผู้คุ้มครองสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งเทวดาให้รอดพ้นจากความทุกข์นั้น”
อนึ่งยังเทียบกับพระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปคฤหบดีได้
เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของคฤหบดี
อธิบาย : ในประเทศอินเดียมีความกว้างใหญ่
แต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกันจึงทำให้มีฤดูกาลที่หลายรูปแบบ ๑ ปีมี ๓ ฤดูบ้าง ๑ ปีมี
๖ ฤดูบ้าง ดังที่พบในวรรณคดีสันสกฤตและบาลี คำว่า “ษฑฺฤตว”
แปลว่าฤดูกาลที่ ๑ ปีมี ๖
ฤดูคือวสนฺตหรือวสันต์ฤดูเดือนไทยคือเดือน๕-๖ คฺศีษฺมหรือคิมหันต์ฤดูเดือนไทยคือเดือน๗-๘
วรฺษาหรือวัสสานฤดูเดือนไทยคือเดือน๙-๑๐ ศรทฺหรือสรทฤดูเดือนไทยคือเดือน๑๑-๑๒
เหมนฺตหรือเหมันตฤดูเดือนไทยคือเดือนอ้าย-ยี่
ศิศิรหรือสิสิรฤดูเดือนไทยคือเดือน๓-๔
กวนอินปางนี้หมายถึงพระอวโลกิเตศวรทรงเมตตาสัตว์ทั้งหลายในทุกฤดู ทุกเช้าทุกเย็น
จึงเรียกว่า “ษฑฺฤตวอวโลกิเตศวร” หรือกวนอิน ๖ ฤดู
ปางที่ ๒๗ สมันตกรุณาอวโลกิเตศวร (普悲观音ผู่เปยกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับยืนบนยอดเขา
พระหัตถ์ทั้งสองซ่อนธรรมอาภรณ์อยู่อยู่ด้านหน้า
เทียบในสมันตมุข : “พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระมเหศวรได้ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของพระมเหศวรได้”
อธิบาย :
พระมเหศวรทรงเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดในสามโลก ทรงมีอานุภาพมากมาย
เปรียบดังความเมตตากรุณาความรักที่มีต่อสัตว์ทั้งหลายของพระอวโลกิเตศวรที่แผ่ซ่านไปทั่วตริสหัสมหาสหัสโลกธาตุ
ด้วยเหตุนี้เองจึงชื่อว่า “สมันตกรุณาอวโลกิเตศวร” ผู้มีความกรุณาที่ปกคลุมไปทั่ว
ปางที่ ๒๘ พระอวโลกิเตศวรภรรยาของหม่าหลาง (馬郎婦觀音หม่าหลางฟู่กวนอิน)
รูปลักษณะ :
ปางนี้ทรงนิรมาณกายเป็นภรรยาของนายหม่าหลาง
พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตร
พระหัตถ์ซ้ายถือหัวกะโหลกหรือที่ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า “ชัฏวางคะ”
เทียบในสมันตมุข :
พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปหญิงภรรยาได้ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของหญิงภรรยา
อธิบาย : ในตำนานกล่าวกันว่า
ในสมัยพระเจ้าเซี่ยนจง แห่งราชวงศ์ถัง ศักราชหยวนเหอปีที่ ๑๒ ราวค.ศ.๘๑๗(唐憲宗元和十二年) แต่บางแห่งกล่าวว่าปีที่ ๔ ไม่ใช่ปีที่ ๑๒
มีหญิงชาวประมงรูปร่างสวยงาม
นำปลาหลายตัวใส่ตะกร้าไปขายในละแวกหมู่บ้านชาวประมงที่ไม่มีศาสนาและศีลธรรมจรรยา
โดยกำหนดเงื่อนไขแก่ผู้ซื้อว่า
จะขายปลาให้ก็ต่อเมื่อซื้อปลาเพื่อเอาไปปล่อยเท่านั้น
ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องโง่เขลา น่าขบขัน
ไม่มีผู้ซื้อปลาจากแม้จะทรงเดินขายอยู่หลายวัน อย่างไรก็ดีมีชายหนุ่มหลายคนมาหลงรักหญิงสาวนั้น
และได้พากันมาสารภาพขอแต่งงานด้วย พระองค์ไม่ทรงรับและไม่ปฏิเสธ
แต่ตั้งเงื่อนไขให้บุคคลเหล่านั้นถือศีลสวดมนต์
ตั้งตนเป็นสัมมาทิฐิเลื่อมใสในพระรัตนตรัย
โดยคืนแรกหญิงนั้นกล่าวว่าให้สวดสาธยานสมันตมุขปริวรรต พอยามฟ้าสางเหลือคนท่องแค่
๒๐ คน หญิงนั้นจึงมอบวัชรสูตรให้ในอีกคืนหนึ่ง
โดยกล่าวว่าถ้าใครสาธยายได้สำเร็จจะให้เป็นสามี ก็เหลือผู้ที่ท่องเพียงแค่ ๑๐ คน
หญิงนั้นจึงได้มอบสัทธรรมปุณฑริกสูตรฉบับของพระกุมารชีพให้อีก
แล้วบอกว่าอีกสามวันให้หลังเจอกัน พอถึงวันนัดหมาย มีเพียงชายวัยหนุ่มสาวแซ่หม่า(馬) ที่เข้าใจพระสูตรอย่างทั่วถึง
จึงได้หญิงนั้นไปเป็นภรรยา
แต่ทว่าหญิงนั้นได้เป็นโรคอยู่แต่ในห้องและได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อถึงวันแต่งงาน
หลังจากนั้นก็ได้มีพิธีฌาปนกิจ แต่ร่างกายที่เน่าเปื่อยได้สลายหายไปในอากาศ
หลังจากนั้นได้มีพระภิกษุเฒ่ารูปหนึ่งครองจีวรสีครั่ง(แดง)
ได้ไปยังที่ฌาปนกิจนั้นได้เพ่งดูสุดชีวิต
เห็นเพียงกระดูกไหลปลาร้าสีเหลืองทองยังมีอยู่
พระภิกษุเฒ่ารูปนั้นจึงกล่าวแก่มหาชนว่า “นั้นคือ(นิรมาณกายของ)พระอวโลกิเตศวรมหาบุรุษ
ที่ทรงเมตตากรุณาต่อท่านทั้งหลาย เนื่องด้วยมีสิ่งขวางกั้นที่หนักยิ่งนักจึงได้เนรมิตมาสั่งสอนท่านทั้งหลายโดยความเหมาะสมทางโสตประสาท”
พอพูดจบก็เหาะจากไป
เหตุนี้เองมหาชนจึงเกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก ต่อมาในสมัยราชวงศซ่งก็ลดลง
แต่ทว่าพระอวโลกิเตศวรภรรยาของหม่าหลางนั้นกลับมีผู้คนศรัทธาอย่างเจริญรุ่งเรือง
ปางนี้เป็นปางเดียวกับปางที่ ๑๐ ที่ถือตะกร้าปลา
ปางที่ ๒๙ อวโลกิเตศวรพนมมือ (合掌觀音เหอจั่งกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงครองผ้าสีขาว
นั่งประคองอัญชลีอยู่บนโขดหินบ้าง ประทับยืนประคองอัญชลีบ้าง
เทียบในสมันตมุข :
ในคัมภีร์นั้นได้กล่าวไว้ว่าพระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเพื่อช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย
จึงได้นิรมาณกายถึง ๓๓ ปาง หนึ่งในนั้นมีรูปกายของพรามณ์ ซึ่งเทียบกับปางพนมมือนี้
อนึ่ง ในคัมภีร์ยังได้มีกล่าวว่า “ดูก่อนกุลบุตร
สัตว์ทั้งหลายผู้มีราคจริต เมื่อได้นมัสการพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์แล้ว
ก็จักเป็นผู้ปราศจากราคะ สัตว์ทั้งหลายผู้มีโทสจริต
เมื่อได้นมัสการพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์แล้ว ก็จักเป็นผู้ปราศจากโทสะ
สัตว์ทั้งหลายผู้มีโมหจริต เมื่อได้นมัสการพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์แล้ว
ก็จักเป็นผู้ปราศจากโมหะ ดูก่อนกุลบุตร พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์
เป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้” (หน้า ๒๔๐ ย่อหน้าที่ ๒)
อธิบาย :
ความนอบน้อมเป็นลักษณะของปราชญ์ จากข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความนอบน้อมมีผลอย่างไร
ถือเป็นคำสอนจากพระอวโลกิเตศวรปางนี้
ปางที่ ๓๐ พระอวโลกิเตศวรเอกตถตา (一如觀音อิหรู่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับบนก้อนเมฆ
เหะเหินไปในนภาอากาศ
เทียบในสมันตมุข :
ฉบับของพระกุมารชีพแปลว่า “เมฆทะมึน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ลูกเห็บตก ลมฝนพายุใหญ่
ด้วยอำนาจแห่งการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ สิ่งต่าง ๆ
ในเวลานั้นย่อมจักสลายหายไป” เทียบที่อ้างแล้วในปางที่ ๓๓
อันเป็นข้อความในฉบับภาษาสันสกฤต
อธิบาย : คำว่า “เอกตถตา” คือเป็นหนึ่งเดียว ไม่เป็นสอง
มีใจความว่าไม่มีสิ่งใดที่แตกต่างกัน สิ่งนี้กล่าวคือปรมัตถ์สัจจะ
อันเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งขวางกั้น ปกคลุมทั่วธรรมธาตุ
พระอวโลกิเตศวรทรงมีปัญญาที่ประเสริฐ พินิจพิจารณาเอกตถตาธรรมนี้
อีกทั้งพระอวโลกิเตศวรยังทรงสามารถสั่งกำราบเมฆทะมึน ฟ้าร้อน ฟ้าฝ่า
ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดจากมารได้อีกด้วย
ปางที่ ๓๑ พระอวโลกิเตศวรทรงไม่เป็นสอง (不二觀音ปู้เอ้อกวนอิน)
รูปลักษณะ :
พระหัตถ์ทั้งสองถือวัชระคฑา ทรงประทับบนกลีบบัวบ้าง ทรงนั่งขัดสมาธิบนโขดหินบ้าง
เทียบในสมันตมุข : เทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปของพระวัชรปาณี
เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปของพระวัชรปาณีได้
อธิบาย :
ที่เทียบกับพระวัชระปาณีนั้นเพราะพระวัชรปาณีทรงเป็นผู้ทรงธำรงรักษาพระพุทธเจ้า
พระอวโลกิเตศวรก็เป็นเช่นเดียวกัน ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันไม่แบ่งแยกว่านั้นเธอนั้นฉัน
นั้นของเธอ นั้นของฉัน จึงชื่อว่าไม่เป็นสอง คือปราศจากความแตกต่าง แบ่งแยกนั่นเอง
ปางที่ ๓๒ พระอวโลกิเตศวรทรงบัว (持蓮觀音ฉือเหลียนกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ทรงถือดอกบัวหนึ่งก้านในพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงประทับยืนบนกลีบดอกบัว
ทรงสวมรัตนะมาลาบนพระเศียร ครองผ้าทิพย์ เกยูรสร้อยกำไลต่าง ๆ
งดงามบริบูรณ์ยิ่งนัก
เทียบในสมันตมุข :
มักเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปกุลบุตรและกุลธิดา
เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปของกุลบุตรและกุลธิดาได้
ปางที่ ๓๓ พระอวโลกิเตศวรโปรยน้ำ(灑水觀音ส่าสุยกวนอิน)
รูปลักษณะ :
ในพระหัตถ์ซ้ายทรงถือคนโทบริสุทธิ์บ้าง บาตรบ้าง
พระหัตถ์ขวาถือกิ่งหลิ่วเพื่อใช้ในการโปรยน้ำอมฤต ทรงประทับยืนบนพื้นดินบ้าง
เมฆบ้าง
เทียบในสมันตมุข : “เมื่อฝนตก
ปรากฏสายฟ้า ฟ้าร้อง ฟ้าแลบและฟ้าผ่า เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร
เหตุการณ์เหล่านั้นก็จะหมดพิษไปในทันที” (หน้า ๒๔๓ ข้อที่
๑๖) ในภาษาจีนฉบับของท่านกุมารชีวะแปลไว้ว่า “การประกอบด้วยศีลและความกรุณา
เสมือนฟ้าร้องสะเทือน เมตตาจิตเสมือนเมฆใหญ่ที่ประเสริฐ โปรยฝนคืออมฤตธรรม
ขจัดไฟแห่งกิเลสที่เร่าร้อน”
อธิบาย : น้ำที่ใช้โปรยนั้น
เป็นน้ำแห่งอมฤตธรรม ซึ่งคือพระนิพพาน อันมีสภาพสงบระงับ และเป็นทางที่ไม่ตาย
ได้เพิ่มพูนความรู้ ขอบคุณมากครับ
ตอบลบ🙏🙏🙏
ตอบลบ