ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ
วัดประสิทธิธรรม ต.ดงเย็น อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี
จากหนังสือชีวประวัติของพระอาจารย์พรหม
จิรปุญฺโญ
คำนำ
หนังสือประวัติหลวงปู่นี้
เคยพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อครั้งจัดงานถวายเพลิงศพท่าน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒
และก็ได้แจกจ่ายในช่วงงานหมด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ผมได้มีโอกาสบวชในระหว่างพรรษา
ได้จำพรรษาที่วัดประสิทธิธรรมอันเป็นวัดที่หลวงปู่ท่านสร้าง
และได้อยู่จำพรรษาจนวาระสุดท้ายของท่าน
และได้เห็นพุทธบริษัทที่ศรัทธาเลื่อมใสในองค์หลวงปู่ท่านทั้งไกลและใกล้
เดินทางมานมัสการเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่าน ทั้งที่เคยไปนมัสการเป็นประจำ
และที่ไปใหม่เพราะทราบข่าวจากการได้ยินได้ฟังจากการบอกเล่าจากครูบาอาจารย์ที่เป็นพระเถระเคยเที่ยวธุดงค์ร่วมกับองค์ท่าน
ในสมัยที่ท่านยังเที่ยวหาความวิเวกตามป่าเขา ตลอดจน
ภิกษุสามเณรที่เคยไปศึกษาอบรมกับท่านพูดถึงปฏิปทาของท่าน และจากนิตยสารต่างๆ บ้าง
เมื่อได้ไปนมัสการแล้วต่างก็เอ่ยปากขอหนังสือประวัติของท่านจากทางวัด
ซึ่งทางวัดก็ไม่มีให้เพราะหมด
ฉะนั้น
ผมจึงคิดว่าเมื่อมีโอกาสจะจัดพิมพ์หนังสือประวัติของปู่อีกครั้งเพื่อถวายไว้ให้ทางวัดได้แจกจ่ายแก่ผู้ยังไม่เคยได้รับ
เนื่องในโอกาสที่ได้จัดทำผ้าป่าสามัคคี
จึงได้ปรารภกับหมู่คณะว่าเราควรจะพิมพ์หนังสือประวัติหลวงปู่เพื่อเป็นอนุสรณ์ในโอกาสนี้บ้าง
โดยอาศัยการคัดจากต้นฉบับเดิมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒
ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย
อันเป็นอดิศัยบุญเขต จงมารวมกันเป็นบุญญฤทธิ์ ประสิทธิ์ผลบันดาลให้ดวงวิญญาณของหลวงปู่หยั่งทราบกุศลเจตนาในครั้งนี้
ได้โปรดคุ้มครองทุกคนทีมีส่วนร่วมในการพิมพ์ในครั้งนี้
ตลอดจนทุกท่านที่เคารพเลื่อมใสในองค์หลวงปู่ จงประสบสุขเกษมสานต์
ปราศจากภัยพาลพิบัติอุปัทวันตรายทั้งหลายทั้งปวงเทอญ
คณะผู้ร่วมจัดพิมพ์
มกราคม
๒๕๓๕
“คนเราเกิดมาทุกรูปทุกนาม รูปสังขารเป็นของไม่เที่ยง
เกิดขึ้นแล้วล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
ไม่ว่าพระราชามหากษัตริย์
พระยานาหมื่น คนมั่งมี เศรษฐี และยาจก
ล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
มีทางพอจะหลุดพ้นได้
คือ ทำความเพียรเจริญภาวนา
อย่าสิมัวเมาในรูปสังขารของตน
มัจจุราชมันบ่ไว้หน้าผู้ใด
ก่อนจะดับไป
ควรจะสร้างความดีเอาไว้”
หลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
เป็นศิษย์ผู้ได้เคยสดับฟังโอวาทและติดตาม ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ
มารูปหนึ่ง ซึ่งท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธุดงควัตร และประกอบด้วยคุณสมบัติในสมณคุณเป็นอันมาก
มีคณะศิษยานุศิษย์และผู้ใคร่ธรรมปฏิบัติเคารพนับถือในท่านเป็นจำนวนไม่น้อย
มีชีวประวัติควรเป็นทิฏฐานุคติแก่พุทธศาสนิกชนได้รูปหนึ่ง ดังจะเล่าสืบต่อไปดังนี้
๏
ชาติภูมิ
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ มีนามเดิมว่า พรหม สุภาพงษ์
ท่านได้ถือกำเนิดมาเป็นบุตรคนหัวปีของนายจันทร์ และนางวันดี สุภาพงษ์
เกิดเมื่อวันอังคาร พุทธศักราช ๒๔๓๑ ปีขาล ณ บ้านตาล ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน
จังหวัดสกลนคร บิดาและมารดาของท่านเป็นชาวนาชาวไร่มาแต่ดั้งเดิมสมัยแต่บรรพบุรุษ
ตระกูลนี้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นชีวิตจิตใจมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ท่านมีน้องๆ
ที่สืบสายใยสายเลือดทางโลกอีก ๓ คน มีชื่อโดยลำดับดังต่อไปนี้
๑.
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
๒.
นายพิมพา สุภาพงษ์ (ต่อมาได้ออกบวชเป็นบรรพชิตจนตลอดชีวิต)
๓.
นางคำแสน สุภาพงษ์
๔.
นางตื้อ สุภาพงษ์ (ต่อมาได้อุทิศชีวิตบวชเป็นชี
เจริญอยู่ในธรรมตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน)
นับตั้งแต่เยาว์วัย
ท่านได้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางท้องทุ่งนาป่าดง
ท่านก็ได้แต่อาศัยความรู้ความเห็นของชีวิตขนบทเท่านั้นเป็นครูสอน
โดยถือว่าเป็นประสบการณ์ในชีวิต ครั้นเติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่ม
ท่านก็ยังคงมีความสงสัย มีความครุ่นคริดอยู่ว่า “คนเราเกิดมาแล้วนี้
จะแสวงหาความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร อะไรคือความสุข ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน”
๏
ชีวิตในการครองเรือน
ตั้งแต่บรรลุนิติภาวะมา เคยได้กล่าวอยู่เสมอๆ ว่า
ความสุขอยู่ที่ไหน โดยไม่มีครูบาอาจารย์มาแนะแนวความคิดให้เช่นนั้น
เพียงแต่ครุ่นคิดอยู่คนเดียว เมื่ออายุย่างเข้า ๒๐ ปี
มีความคิดในด้านนี้รุนแรงขึ้นว่า เมื่อมีครอบครัวแล้วก็จะมีความสุข
เมื่อคิดตกลงดังนี้ จึงแจ้งความจำนงต่อบิดามารดา
ตลอดถึงญาติผู้ใหญ่ในสกุลให้ทราบว่า อยากมีครอบครัวตามประเพณีของโลก
เมื่อบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ได้ทราบแล้ว ก็มิได้มีความขัดข้อง
จึงพร้อมกันจัดหาหญิงผู้มีสกุลสมควรให้เป็นศรีภรรยา ภรรยาคนแรกชื่อ พิมพา
เป็นชาวบ้านดงเย็น
ท่านได้ย้ายภูมิลำเนาจากบ้านตาลไปอยู่ที่บ้านดงเย็นกับศรีภรรยา
ตั้งหลักฐานอยู่ที่นั้นตลอดมา อยู่กินด้วยกันมามีบุตรได้ ๑ คน พอคลอดออกมา
ภรรยาและลูกก็เสียชีวิตด้วยกัน ได้จัดการฌาปนกิจศพภรรยาและลูกเสร็จเรียบร้อยแล้ว
อยู่มาพอสมควร
ความคิดที่ว่ามีครอบครัวแล้วจะให้เกิดความสุขนั้นเป็นอันล้มละลายหายสูญไปอีก
ตรงกันข้ามเป็นการเพิ่มทุกข์ให้มีแก่ตนเป็นเท่าทวีคูณเสียอีก
ครั้นกาลต่อมา ความคิดที่ว่าความสุขอยู่ที่มีครอบครัวก็เกิดขึ้นอีก
ท่านจึงได้มีครอบครัวกับนางกองแพงอีกเป็นครั้งที่ ๒ ได้ร่วมสุขทุกข์กันมาเป็นเวลา
๕ ปี ไม่มีลูก
ต่อมาทางประชาชนและทางราชการเห็นดีเห็นชอบจึงแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑
บ้านดงเย็น เพราะหลักฐานการประพฤติและทรัพย์สมบัติพอเป็นที่พึ่งและตัวอย่างของประชาชนได้เป็นอย่างดี
ท่านได้ปกครองประชาราษฏร์โดยหลักยุติธรรมเที่ยงตรง ไม่เป็นไปตามอำนาจอคติ ๔ ประการ
คือ ฉันทา โทสา โมหา และภยาคติ ไม่เห็นแก่สินจ้างรางวัล และไม่เข้าคนผิด
จึงเป็นที่เคารพนับถือยำเกรงของประชาชนในถิ่นนั้นมาก เป็นหัวหน้าผู้ปกครองที่ดีคนหนึ่ง
ในทางสร้างหลักฐานส่วนตัว
ท่านเป็นคนหมั่นขยันต่อหน้าที่การงาน เก็บเล็กผสมน้อย มีที่ดินปลูกบ้านที่สวน
ที่นาหลายแปลงและมีโคกระบือ โคเป็นร้อยๆ ตัว กระบือไม่ต่ำกว่า ๕๐
นับว่าฐานะพอกินพอใช้ในยุคนั้น นอกจากนั้น
ท่านยังเป็นหัวหน้านำหมู่พ่อค้าโคกระบือไปจำหน่ายทางภาคกลาง
และเป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน
บรรทุกหนังสัตว์และของป่าไปจำหน่ายที่จังหวัดนครราชสีมา
ขากลับก็บรรทุกของเทศไปขายทางบ้านจนปรากฏชื่อเสียงจากประชาชนขนานนามว่านายฮ้อยพรหม
ผู้ที่เป็นนายฮ้อยนายแถว ในสมัยนั้นต้องเป็นคนมีทรัพย์ มีความดีมากกว่าคนอื่นๆ เสียงนี้มาจากประชาชน
ไม่ได้ตั้งตัวเอง นับว่าเป็นเกียรติอันสูงส่งซึ่งใครๆ ก็กระหยิ่มอยากได้
ถึงจะได้ทรัพย์สมบัติบริบูรณ์และได้รับเกียรติจากประชาชนมากมายอย่างนั้นก็ตาม
ความนึกคิดครั้งแรกๆ
ที่ว่าเมื่อมีครอบครัวมีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์แล้วความสุขก็จะเกิดมีขึ้นมาตามลำดับ
แต่กลับตรงกันข้ามอีก มีแต่เจ้าทุกข์ล้อมหน้าล้อมหลัง
ทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อภัยอย่างนับไม่ถ้วนรอบด้าน
เพราะทรัพย์สมบัติเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดความสมหวังและผิดหวังอยู่เสมอ
ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นธรรมดาเมื่อมีสมบัติ วิบัติก็ต้องตามมา ซึ่งเป็นวิสัยของโลกอย่างนี้
ผู้ไม่มีอุปนิสัย ในเมื่อได้ลาภได้ยศย่อมมัวเมาลุ่มหลงและเพลิดเพลินอยู่
หารู้ว่าความวิบัติเหล่านั้นจะมาถึงตนไม่
สำหรับตัวท่านในขณะนั้น
ถึงจะมีความรักความอาลัยในทรัพย์สมบัติเหล่านั้นอยู่ ก็ไม่มัวเมาถึงกับลืมตัวเอง
ยังครุ่นคิดที่จะแสวงหาความสุขยิ่งขึ้นไปกว่านี้
ตอนนี้คล้ายกับดอกบัวที่พ้นน้ำรอคอยรับแสงจากพระอาทิตย์อยู่ก็พอดีได้กัลยาณมิตรคือ
ท่านอาจารย์สาร
มาจากจังหวัดอุบลราชธานี ท่านเคยเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ
รูปหนึ่งเที่ยวแสวงหาวิเวก เผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่ประชาชนมาเรื่อยๆ ผ่านเข้ามาถึงหมู่บ้านดงเย็นเท่านั้น
ท่านผู้มีอุปนิสัยเบาบางผู้เป็นอุบาสก ได้ทราบข่าว
ก็รีบจัดแจ้งแต่งเครื่องสักการะออกไปต้อนรับอาจารย์สาร
ซึ่งท่านพักอยู่ที่วิเวกในป่าใกล้บ้านดงเย็นนั้น
พอไปถึงได้ถวายสักการะเคารพกราบไหว้ตามวิสัยของสัปบุรุษ
ได้รับความเมตตากรุณาจากท่านเป็นอันดี
เมื่อมีโอกาสก็เรียนถามท่านอาจารย์ในข้อที่ต้องสงสัยที่อัดอั้นมานาน
ได้เล่าความจริงที่มีในใจของตนออกมาให้ท่านทราบทุกประการว่า
แต่ก่อนกระผมเข้าใจว่ามีครอบครัวแล้วจะมีความสุข
ครั้นพอมีครอบครัวแล้วค้นหาความสุขเช่นนั้นก็ไม่พบอีก กระผมจึงขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า
ความสุขนั้นอยู่ตรงที่ไหนกันแน่
กระผมทำอย่างไรจึงจะได้ประสบความสุขที่แท้จริงเช่นนั้นได้ในชีวิต
ท่านอาจารย์สารให้โอวาทเป็นคำตอบที่ถูกต้องและจับขั้วหัวใจของอุบาสกว่า ถ้าอยากประสบความสุขที่ปรารถนาอยู่นั้น
ต้องละอารมณ์คือรักใคร่พอใจในกามคุณ ๕ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส
ในสัมผัส อันเป็นเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในกองทุกข์เสียให้หมดสิ้นไปจากใจ
ความสุขที่ปรารถนาอยู่นั้นก็จะฉายแสงออกมาให้ปรากฏเห็นตามสมควรแก่ความเพียรที่ได้ทุ่มเทลงไปในทางที่ถูกที่ชอบ
เมื่อท่านได้รับโอวาทแนะนำแนวทางการปฏิบัติจากพระอาจารย์สารเช่นนั้นแล้ว
ก็มีความเบาใจ ประหนึ่งว่าความสุขที่ปรารถนาอยู่แล้วนั้นจะได้ประสบอยู่ในเร็วๆ นี้
แต่ท่านยังมีความดำริต่อไปอีกว่า ถ้าเรายังพัวพันเกี่ยวข้องอยู่กับครอบครัว
ทรัพย์สมบัติ เรือกสวน ไร่นา มัวเมาอยู่ในความเป็นใหญ่ และในการค้าขายอยู่เช่นนี้ นับวันก็จะเหินห่างจากความสุขที่เราปรารถนาอยู่ตอนนี้
ท่านจึงตกลงปลงใจที่จะสละครอบครัวและทรัพย์สมบัติทั้งหมด
เพื่อออกบวชในบวรพระพุทธศาสนา
ก่อนจะบวชท่านดำริต่อไปอีกว่า
เราควรจะเอาเยี่ยงอย่างพระเวสสันดรตามที่เคยสดับมาว่า
พระเวสสันดรนั้นท่านได้สละทานทุกสิ่งทุกอย่าง ตลอดถึงลูกเมีย เครือญาติ ออกบวช
บำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณในเบื้องหน้า
ในที่สุดพระองค์ก็ได้ตรัสรู้ความจริงคืออริยสัจธรรมทั้ง ๔
เป็นศาสดาครูสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ผลทั้งนี้ย่อมสำเร็จมาจากการเสียสละของพระองค์
เมื่อความตกลงใจจะออกบวชและสละสมบัติบรรดาที่มีอยู่เช่นนี้แล้ว
ก็ได้นัดประชุมประชาชนในหมู่บ้านว่า ใครต้องการอะไรในวัตถุสมบัติที่มีอยู่ เช่น โค
กระบือ เงินทอง และเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีอยู่ให้มารับเอาไป
ในตอนนี้
ท่านได้มีศรัทธาอันแรงกล้า จัดตั้งกองบุญ ๒๐ กอง เพื่อจะบวชนาค ๒๐ นาค
แต่เมื่อจะบวชจริงๆ ปรากฏว่าได้นาคเพียง ๑๒ นาคเท่านั้น
จะเป็นเพราะเหตุผลกลใดไม่ทราบเค้าเงื่อนไขในเรื่องนี้ดีนัก
ท่านได้สร้างวัดขึ้นหนึ่งวัด
พร้อมกับทำรั้ววัดด้วยทุนทรัพย์ของท่านเป็นการเรียบร้อย ในการต่อมาที่ดินในวัดนั้น
ได้กลายเป็นที่ดินที่ตั้งโรงเรียนประชาบาลบ้านดงเย็นปัจจุบันนี้ เรียกว่า
โรงเรียนบ้านดงเย็นพรหมประชาสรรค์
ต่อจากนั้นท่านก็ได้สละทานวัตถุต่างๆ
ตลอดจนข้าวเปลือกในยุ้งในฉางแก่คนยากจน หรือแก่บุคคลสมควรจะให้
ท่านสละอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาหลายวัน ยังเหลือไว้แต่เรือนสองหลัง ในกาลต่อมา
ท่านได้อนุญาตให้นางกองแพงซึ่งเป็นศรีภรรยาของท่านออกบวชเป็นนางชีก่อนเป็นเวลา ๑
ปี เรือน ๒ หลังที่ยังเหลืออยู่นั้น
หลังที่หนึ่งไปปลูกเป็นกุฏิที่วัดป่าบ้านป่าเป้า หลังที่สอง
ไปปลูกเป็นกุฏิที่วัดป่าผดุงธรรม บ้านดงเย็น ปัจจุบันนี้
การเสียสละทานที่ท่านได้บำเพ็ญในคราวครั้งนั้น ยากที่บุคคลจะทำได้เช่นนั้น เช่น
ได้สละทรัพย์สร้างวัดสิ้นเงินไป ๑ ชั่ง ๒ ตำลึง ๒ บาท เงินชั่งในครั้งกระโน้น
คิดเทียบในปัจจุบันนี้ก็เป็นจำนวนมากพอดู
เมื่อท่านได้สละสิ่งของหมดสิ้นแล้ว
ความอาลัยใยดีในวัตถุสิ่งของก็เบาบางลง
พอจะปลีกตัวออกบรรพชาอุปสมบทในทางพุทธศาสนาได้แล้ว ท่านก็อำลาวงศาคณาญาติ มิตรสหาย
ลูกบ้านหลานเมือง ออกบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุท่านได้ ๓๗ ปี ณ
วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีท่านเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์
สมัยเป็นพระราชกวี เป็นพระอุปัชฌายะ และท่านพระครูประสาทคณานุกิจ
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนน้องชาย น้องสาว และน้องเขย ก็ออกบวชด้วย
เป็นผู้มั่นคงในศาสนาตลอดชีวิตทุกคน
มีข้อที่น่าคิดอยู่อย่าง
คือตอนท่านบำเพ็ญทานไม่ให้ทานเครื่องดักสัตว์และเครื่องอุปกรณ์แก่การทำลายชีวิต
เช่น แห อวน เบ็ด ตะกั่ว ซืน ดินประสิว และหิน ปากนก สิ่งเหล่านี้ขนทิ้งหมด
โดยไม่ให้ใครรู้จักที่ทิ้งด้วย นับว่าท่านดำเนินตามแบบอย่างของบัณฑิตจริงๆ
น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ควรถือเป็นคติตัวอย่างได้เป็นอย่างดี
หลวงปู่พรหมท่านเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่พวกเราพุทธบริษัททุกท่าน
การกระทำเช่นนี้ทำให้ระลึกถึงธรรม ๔ ประการ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดังนี้
- มัจฉริยะ บุคคลที่มีความตระหนี่ไม่ทำบุญให้ทาน
วิบากนั้นบันดาลให้เป็นคนยากจนขัดสนทรัพย์สมบัติทั้งปวง
- อเวยยาวัจจะ บุคคลที่มีความไม่ช่วย ไม่ขวนขวายในกิจที่ชอบ
คือ ไม่ช่วยขวนขวายในการบุญกุศลของคนอื่น
และไม่เที่ยวบอกบุญชักชวนคนอื่นในการบุญและกุศล
วิบากนั้นบันดาลให้เป็นคนไร้ญาติขาดมิตร
แต่หลวงปู่พรหมท่านเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญ ท่านเป็นผู้มีสติปัญญาในทางธรรม
รู้แจ้งในหลักธรรมเหล่านี้ ท่านจึงเลือกคุณธรรมในข้อต่อไปนี้
- ปริจจาคะ
บุคคลทีมีการบริจาคทรัพย์สมบัติของตนให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ได้แก่ ไม่มีความตระหนี่เหนียวแน่น
มีความยินดีในการทำบุญทำกุศล กรรมดีนั้น
บันดาลให้เป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ
- เวยยาวัจจะ บุคคลที่มีการช่วยขวนขวายในกิจอันชอบ คือ
ช่วยขวนขวายในการบุญการกุศลของคนอื่นให้มาร่วมบุญกุศล
กรรมดีนั้นบันดาลให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ด้วยญาติมิตรสหาย ทั้งข้าทาสบริวารก็มากมาย
นอกจากการกระทำภายนอกของหลวงปู่พรหมเป็นที่ประจักษ์นี้แล้ว
ส่วนภายในจิตใจของท่านยังมีการกระทำ
ยังมีจิตใจที่ตั้งมั่นอย่างแน่วแน่ไม่เปลี่ยนใจคือ
มีความเชื่อในพระตถาคตตั้งมั่นไม่คลอนแคลน
ไม่สงสัย
มีศีลเป็นศีลที่งดงาม
เป็นศีลที่พระอริยเจ้าสรรเสริญ
มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์
ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงต่อคำสั่งสอน
มีความเห็นที่เที่ยงตรง
คือ เห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
เมื่อบุคคลทั้งปวง
บัณฑิตทั้งหลายได้กระทำให้มีขึ้นแล้ว ท่านเรียกผู้นั้นว่าเป็นผู้ไม่ยากจน
ชีวิตของผู้นั้นไม่มีโมฆะ ไม่เปล่าจากสารประโยชน์
เป็นสมบัติของผู้มีปัญญาธรรมโดยแท้
หลวงปู่พรหมเมื่อได้ทำการบริจาคทานอันเป็นวัตถุข้าวของเงินทองที่มีอยู่ของท่านจนหมดสิ้นแล้ว
ท่านก็มิได้อยู่รอช้า เมื่อบอกลาญาติทั้งหลายตลอดถึงเพื่อนฝูงเพื่อนบ้านทุกคนแล้ว
ก็ได้เตรียมตัวออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง คือ วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง
จังหวัดอุดรธานี เพื่ออุทิศตนถวายชีวิตแก่พระพุทธศาสนา ปรากฏว่าได้มีน้องชาย
น้องสาว และน้องเขยของท่านติดตามออกบวชด้วยเช่นกัน
พ.ศ. ๒๔๙๖ ปีเถาะ (โดยประมาณ)
เป็นปีที่ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อนับอายุปีเกิดของท่านแล้ว
จะต้องเป็นปีนี้แน่นอนที่ท่านบวช อายุของท่านได้ ๓๗ ปีเต็ม โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่
พระครูชิโนวาทธำรง วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และท่านพระครูประสาทคุณานุกิจ
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “จิรปุญฺโญ”
๏
การจาริกต่างจังหวัดเพื่อแสวงหาวิเวก
เมื่อท่านได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้เที่ยวไปกับ
ท่านอาจารย์สาร ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเดินทางด้วยเท้าเปล่าตลอด
ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนอย่างทุกวันนี้ จำพรรษาในที่ต่างๆ ๓ พรรษา
แล้วได้ลาพระอาจารย์กลับภูมิลำเนาเดิม พักอยู่ที่วัดผดุงธรรม บ้านดงเย็น (วัดใน)
เดี๋ยวนี้ ได้พร้อมกับชาวบ้านสร้างหอไตรขึ้น ๑ หลัง
เพื่อเป็นที่เก็บรักษาบรรดาหนังสือพระคัมภีร์ต่างๆ ไว้ให้เป็นที่ปลอดภัย
ท่านอาจารย์พรหมได้เล่าต่อไปให้สานุศิษย์ฟังว่า
เมื่ออุปสมบทได้ ๓ พรรษาแล้ว จิตก็หวนกลับอยากไปสู่ฆราวาสอีก ในตอนนี้
ท่านได้ต่อสู้มารกิเลสฝ่ายต่ำจนเต็มสติกำลัง ด้วยการใช้ความเพียรพยายามอดทนเต็มที่
มีการทำสมาธิภาวนาและเดินจงกรมเป็นต้น จนในที่สุดท่านกลับเป็นฝ่ายชนะ
ศิษย์พระอาจารย์มั่นเกือบทุกองค์นั่นแหล่ะ
ท่านเอาธรรมะเข้าต่อสู้จนออกจากภัยอันร้ายแรงได้ เรื่องกิเลสมารทับจิตใจนี้
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านก็เคยถูกกระแสกิเลสนี้พัดกระหน่ำอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน
เรื่องนี้ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง อันเป็นอุบายธรรมปฏิบัติว่า
ภายหลังจากที่ท่านได้บวชเป็นพระแล้ว
๓ พรรษา ก็เกิดมีความรู้สึก (กิเลสภายใน) อย่างรุนแรง
คิดอยากจะสึกออกมาเป็นฆราวาสวิสัยอีก ทำอย่างไรๆ ก็ไม่หายที่จะนึกคิด
ต้องเร่งพยายามต่อสู้ความคิดภายในนั้นมันเป็นกิเลสมารตัวร้าย สู้กันอย่างหนัก
อาวุธที่เข้าต่อสู้นั้น ท่านได้ทำสมาธิ
เดินจงกรมและด้วยวิธีต่างๆ นานา นำมาใช้เป็นอุบายขจัดขับไล่ออกไป
และด้วยความตั้งใจจริงของท่านนี้เอง
ในที่สุดท่านสามารถเอาชนะอารมณ์จิตที่คิดจะสึกนั้นได้ เพราะว่าท่านคิดอยู่เสมอว่า
ในชีวิตของท่านไม่เคยแพ้ใคร ท่านไม่เคยทำสิ่งใดล้มเหลว
แล้วท่านจะมาแพ้ใจตนเองได้อย่างไร ท่านก็ได้ตัดสินใจมุ่งหน้ามาถึงขนาดนี้แล้ว
ท่านจะต้องเดินต่อไปจนถึงที่สุด แม้จะต้องฟันฝ่ากับภัยอันตรายใดๆ
ที่ยิ่งใหญ่ในโลกนี้ก็ตาม
ในที่สุดท่านหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ก็สามารถดำเนินเดินตามรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันเป็นจุดหมายปลายทางของท่านได้สำเร็จ
คว้าชัยชนะจากคู่ต่อสู้คือกิเลสมารได้ หลังจากหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านได้รับธรรมะจากท่านพระอาจารย์สาร ซึ่งเป็นพระอาจารย์องค์แรกของท่าน
พอที่จะนำข้อวัตรนั้นไปปฏิบัติแก่ตนเองบ้างแล้ว ท่านจึงได้กราบลาออกเดินธุดงค์
แสวงหาวิโมกขธรรมต่อไป ในการออกเดินธุดงค์ หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านได้นำหลานชายคนหนึ่ง ชื่อ “บุญธาตุ” ซึ่งอายุยังน้อยและยังไม่ได้เข้าโรงเรียนไปด้วย
ท่านออกธุดงค์จากประเทศไทยเดินบุกป่าฝ่าดงมุ่งไปยังนครหลวงพระบาง
ประเทศลาว การเดินทางไปมีความลำบากมาก ต้องบุกป่าฝ่าดงไปเรื่อยจนกว่าจะถึงหมู่บ้าน
จึงจะแขวนกลดเข้าพักผ่อนเมื่อจัดที่ให้หลานชายนอนจนหลับไปแล้ว ท่านก็นั่งบำเพ็ญเพียรภาวนา
เดินจงกรม รักษาจิต ขจัดกิเลส
ภายในออกจากจิตใจด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงต่อธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์
ท่านได้สละทุ่มเทลงไปเพื่อได้มาซึ่งธรรมความเป็นจริงให้จงได้
พอรุ่งเช้าก็ออกเดินธุดงค์ต่อไป โดยมีหลานชายเล็กๆ เดินตามหลังท่าน บุกป่าฝ่าดง
ปีนภูเขาลูกแล้วลูกเล่า บางคราวก็เดินเลียบไปตามชายฝั่งของแม่น้ำโขง
เพราะหนทางลำบากเป็นไปด้วยความแร้นแค้น
บางวันก็พบหมู่บ้านพอเป็นที่โคจรบิณฑบาตประทังความหิวโหยไปวันๆ หนึ่ง
แต่บางวันก็ไม่พบหมู่บ้านและใครๆ เลย อาหารการขบฉันและที่หลานชายจะกินก็ไม่มี
หลานชายก็ร้องไห้เพราะทนความหิวไม่ไหว...มีเพียงน้ำพอประทังความหิวโหยไปได้เท่านั้น
ขณะนั้นหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ ท่านยังไม่พบกับหลวงปู่มั่น
ภูริทัตโต พระบูรพาจารย์ใหญ่แห่งยุค
ท่านได้เล่าประสบการณ์ตอนเดินธุดงค์กรรมฐานสมัยแรกๆ ในประเทศลาวไว้ดังนี้ว่า
ปฏิบัติธรรมเพื่อเอาความดีนั้น จะต้องอดทน มีความพยายามอย่างสูงสุด
จึงจะได้มาซึ่งคุณงามความดี การเดินป่าหาธรรมะ
ต้องต่อสู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มักเกิดขึ้นมา บางวันก็ต้องหอบหิ้วสัมภาระทั้งหมดนี้
เช่น บาตร กลด กาน้ำ และยังต้องอุ้มหลานชายไปด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้เดินทางได้เร็ว
ทำอยู่อย่างนี้ตลอดวัน
แม้ว่าการเดินธุดงค์จะเต็มไปด้วยความทุกข์ยากตลอดทาง
แต่จิตใจนั้นไม่เคยยอมพ่ายแพ้แก่อุปสรรค หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านเดินบ้างพักบ้าง สัมภาระเต็มหลัง
และยังมีหลานชายอีกคนหนึ่งที่ท่านต้องอุ้มไว้กับอก การเดินธุดงค์ของหลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ ได้มาสิ้นสุดลงเมื่อมาถึงจุดหมายปลายทาง คือ นครหลวงพระบาง ประเทศลาว
จากนั้นท่านได้อยู่พักเหนื่อยเป็นเวลาหลายวัน
แต่ขณะที่อยู่พักยังนครหลวงพระบางนั้น ท่านเกิดล้มป่วย
วิบากขันธ์ของท่านสร้างความเจ็บปวดทรมานจิตใจอย่างรุนแรง ดังที่ท่านได้เล่าดังต่อไปนี้
เมื่อไปถึงที่ก็เกิดเจ็บป่วยด้วยโรคท้อง
(กระเพาะอาหารเป็นพิษ) จนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
รักษาไปนานวันก็ไม่หายจึงต้องออกจากโรงพยาบาลเสีย
ต่อมาก็ได้เข้าไปให้ภิกษุรูปหนึ่งชื่ออาจารย์ก้ง เป็นหมอพระอยู่ละแวกนั้นรักษา
แต่อาการเจ็บป่วยก็ไม่ทุเลาลงเลย จึงคิดตัดสินใจว่า “ต่อไปนี้เราจะไม่รักษาด้วยยาอีก
จะไม่ฉันยาขนานใดๆ อีกต่อไป ถ้าจะเกิดล้มตายลงไปก็ถือเป็นกรรมเก่าของเรา
แต่ถ้าหากเรายังพอจะมีบุญอยู่บ้าง ก็คงจะหายไปเป็นปกติได้”
ภายหลังจากท่านตัดสินใจแล้ว
ท่านก็ได้ยุติการใช้ยาหรือฉันยารักษาโรคทันที หันมาใช้วิธี “รักษาด้วยธรรมโอสถ” ท่านเจริญสมาธิ
ฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง พิจารณาธาตุขันธ์
แล้วเพ่งเพียรรักษาด้วยอารมณ์จิตใจที่เป็นสมาธิ ทรงคุณธรรมไว้เฉพาะหน้า
บุญญาบารมีเป็นเครื่องนำหนุน มีวาสนาเป็นยารักษาโรคให้หายจากอาการเจ็บปวดทรมาน
ซึ่งต่อมาท่านก็ค่อยๆ หายจากอาการอาพาธ และได้เดินธุดงค์กลับมาประเทศไทย
นำหลานชายมาคืนให้พ่อแม่เขาต่อไป
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ไม่ชอบอยู่กับที่
ท่านมีความมุ่งหมายที่จะเดินธุดงค์ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางป่าดงพงไพรเสียเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น เมื่อท่านกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์กรรมฐานไปทางภาคเหนือ
แต่การออกเดินธุดงค์เพื่อแสวงวิโมกขธรรมในคราวนี้
ท่านมีพระสหธรรมมิกร่วมทางไปด้วยองค์หนึ่ง คือ หลวงปู่ชอบ
ฐานสโม
ผู้เป็นพระเถระผู้อาวุโสอีกองค์หนึ่งในปัจจุบันนี้
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านพระอาจารย์ทั้งสององค์นี้ต่างก็เป็นเพชรน้ำเอก
เป็นหัวแหวนอันล้ำค่าด้วยกัน เมื่อได้โคจรไปในที่อันวิเวกด้วยกัน
ย่อมเป็นที่น่าสนใจแก่ประชาชนในยุคนั้นเป็นอันมาก...ท่านได้ออกเดินธุดงค์ผ่านป่าเขาลำเนาไพรไปตลอดสายภาคเหนือ
แล้วเข้าเขตประเทศพม่า ด้วยนิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญการเดินธุดงค์กรรมฐานของท่านนี้
ท่านไม่พะวงที่อยู่อาศัย ค่ำไหนก็พักบำเพ็ญสมณธรรม สว่างแล้วออกเดินธุดงค์ต่อไป
จิตใจของท่านนั้นมีแต่ธรรมะ อาหารการขบฉันก็เป็นไปในลักษณะมีก็กิน ไม่มีก็อด
ยอมทนเอา ไม่มีการเรียกร้อง ไม่มีการสงสารตนเองที่เกิดทุกข์เวทนา เพราะการเดินธุดงค์ก็เพื่อขจัดกิเลสภายในให้หมดสิ้นไป
หลวงปู่พรหม และหลวงปู่ชอบ
ท่านมีความตั้งใจในข้อวัตรปฏิบัติธรรมมาก ท่านมีความแกล้วกล้าชนิดถึงไหนถึงกัน
ท่านได้ผ่านเมืองต่างๆ ในประเทศพม่าจนสามารถพูดภาษาพม่าได้คล่องแคล่ว
โดยเฉพาะหลวงปู่ชอบ ท่านพูดภาษาพม่าได้คล่องเหมือนเป็นภาษาของท่านเอง
ในระหว่างการเดินธุดงค์กรรมฐานของท่านนี้ หลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้พักบำเพ็ญธรรมอยู่ใกล้ๆ กับหมู่บ้าน
ครั้นพอรุ่งเช้าท่านก็ออกบิณฑบาตได้อาหารมาพอประมาณ ขณะเดินกลับจากบิณฑบาตนั้น
หลวงปู่พรหมท่านได้ผ่านบริเวณวัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งมีพระพุทธรูปเก่าๆ
แตกหักพังตกเกลื่อนเต็มไปหมด
ท่านจึงนั่งลงแล้วถวายการสักการะนมัสการ...แตภายในจิตใจของท่านนั้น
ได้รำพึงขึ้นว่า
“พระพุทธรูปเหล่านี้ไม่มีใครเหลียวแลและซ่อมแซมกันเลย
ทิ้งระเกระกะอยู่เต็มไปหมด พระพุทธรูปเหล่านี้สิ้นความศักดิ์สิทธิ์แล้วละหรืออย่างไร”
ขณะที่หลวงปู่พรหมท่านกำลังรำพึงในใจอยู่นั้น
ก็เกิดความอัศจรรย์ขึ้น...แผ่นดินสะทือนเลื่อนลั่น กระดิ่งเก่าๆ
ที่แขวนอยู่ชายโบสถ์หลังเก่านั้นถูกแรงสะเทือนดังเกรียวกราวขึ้น
จนหลวงปู่พรหมต้องเข้ายึดเสาศาลาไว้เพราะกลัวแผ่นดินจะถล่ม หลวงปู่พรหมท่านได้กำหนดรู้ด้วยวาระจิต
และเห็นเป็นประจักษ์แก่ตัวของท่านเองว่า...ความอัศจรรย์ครั้งนี้ไม่ใช่แผ่นดินไหวแน่
แต่เป็นด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธรูปที่หักพังเหล่านั้น
ท่านแสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นมีจริงๆ ไม่ควรประมาทในสิ่งเหล่านี้
เพราะเป็นวัตถุบูชาชั้นสูงย่อมมีเทวดาปกปักรักษาอยู่เสมอ เมื่อหลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ ท่านเห็นเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์นี้แล้ว บังเกิดปีติขนพองสยองเกล้า
ท่านจึงนั่งลงกราบขอขมาลาโทษต่อพระพุทธรูปเหล่านั้น
บัดนี้หลวงปู่พรหมมีความเชื่อมั่นในพุทธานุภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่ยิ่ง
ท่านมีความมานะพยายามที่จะบำเพ็ญธรรมขั้นสูงต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
และเป็นพระที่มีนิสัยแก่กล้า
พยายามฟันฝ่ากับอุปสรรคทั้งปวงเพื่อจะขอเอาดวงจิตอันเป็นสมบัติดวงเดียวของท่านพ้นทุกข์ให้ได้
ก่อนที่ท่านจะบวชเข้ามาดำเนินจิตออกจากทุกข์นั้นท่านมีความตั้งใจและเคยปรารภในใจอยู่ทุกเช้า-ค่ำว่า
“ทำอย่างไรหนอชีวิตของเรานี้จะได้พบกับความสุขที่แท้จริง” ความตั้งใจของท่านนี้เองสามารถนำมาเป็นหลักประกันปฏิปทาข้อวัตรอันบริสุทธิ์ในเพศพรหมจรรย์
ขณะที่อยู่ปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์สารซึ่งเป็นศิษย์องค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น
ภูริทตฺตมหาเถระ นั้น
บ่อยครั้งที่ท่านพระอาจารย์สารได้เอ่ยปากยกย่องพรรณนาคุณของหลวงปู่มั่นให้หลวงปู่พรหมได้ยิน...หลวงปู่ท่านก็มุ่งต่อหลวงปู่มั่นเพื่อเป็นที่ฝากเป็นฝากตายในชีวิตแห่งเพศสมณะ
แต่ก่อนได้พบหลวงปู่มั่น ท่านรำพึงกับตนเองเสมอว่า
ก่อนที่จะเข้ามนัสการพระอาจารย์มั่นผู้เลิศด้วยปัญญานั้น
จำเป็นที่ท่านจะต้องฝึกฝนตนเองให้แข็งแกร่งแก่กล้าเสียก่อน
เมื่อได้พบได้รับอุบายใดๆ ก็จะได้ทุ่มเทกายใจประพฤติปฏิบัติธรรม
โดยขอเป็นชาติสุดท้าย แม้มีวาสนาบารมีแล้วก็คงจะสมหวังดังตั้งใจไว้แน่นอน
นอกจากหลวงปู่พรหมจะเป็นผู้มีความอาจหาญมั่นคงแล้ว
ท่านยังเป็นพระผู้ปฏิบัติธรรมที่มีสติปัญญาหยั่งรู้ในเหตุการณ์ที่มาเกี่ยวข้องจนสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยได้
ความจริงแล้ว หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านมีใจกับธรรมะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เกิดความอบอุ่นและเยือกเย็นตลอดมา
ท่านได้สละแล้วจนหมดสิ้น ยอมอดยอมทนต่อความยากลำบากหิวโหยได้อย่างสบาย
ก็เพราะท่านมีธรรมะเป็นอารมณ์ของจิต เมื่อหลวงปู่พรหมท่านปล่อยขันธ์ไปสิ้นแล้ว
ความจริงก็ปรากฏว่า “ปรมํ สุขํ” ท่านหมดความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง
สมัยที่หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านเดินธุดงค์แสวงหาความวิเวกทางใจอยู่ในดินแดนประเทศพม่า ท่านผ่านจังหวัดต่างๆ
มากมายหลายแห่ง ในวันหนึ่งขณะที่ท่านเข้าที่เจริญสมณธรรม
เมื่อจิตสงบดีแล้วก็ปรากฏนิมิตหมายอันสำคัญขึ้นว่า “ได้มีพระภิกษุสงฆ์องค์หนึ่งมาปรากฏกายยืนอยู่ต่อหน้าของท่าน
พระภิกษุสงฆ์องค์นั้น
มีรัศมีกายสีฟ้าและมีแสงที่สวยสดงดงามตาระยิบระยับไปทั่วบริเวณนั้น
ครั้นแล้วพระภิกษุสงฆ์ผู้งดงามได้เอ่ยขึ้นกับท่านว่า...“เราคือพระอุปคุต...เธอเคยเป็นศิษย์ของเรา
เธอมีนิสัยแก่กล้า เอาให้พ้นทุกข์นะ” ต่อจากนั้นภาพของพระภิกษุสงฆ์นั้นก็ค่อยหายไป
ด้วยเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้หลวงปู่พรหมมีกำลังใจที่จะปฏิบัติต่อไปอีกมากมาย
ดังนั้น
หลวงปู่พรหมจึงมุ่งปฏิบัติธรรมตามเสด็จพระพุทธเจ้าและพระสาวกเจ้าทั้งหลายให้ทันในชาตินี้
หลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ ท่านธุดงค์มาถึงถ้ำอีกแห่งหนึ่งอันเป็นสถานที่สงบระงับเหมาะแก่การเจริญภาวนา
ถ้ำนี้ชื่อว่าถ้ำนาปู เป็นบริเวณป่าไม้และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากชนิดด้วยกัน
มีบ้านของชาวพม่าอยู่ ๔ หลัง
หลวงปู่พรหมได้อาศัยบิณฑบาตได้อาหารมาพอประทังตามสมควร
นับได้ว่ามีบุญวาสนาต่อกันมากในสมัยนั้น ไม่ปรากฏชัดว่าหลวงปู่ได้อยู่บำเพ็ญธรรม ณ
ถ้ำนาปูแห่งนี้นานสักเท่าใด แต่มีคำบอกเล่ากันต่อๆ
กันมาว่า...หลวงปู่พรหมได้เร่งทำความเพียรอย่างชนิดทุ่มเทจิตใจกันเลยทีเดียว
และการปฏิบัติธรรมของท่านนั้นทำจิตใจเลื่อนสู่ภูมิธรรมขั้นละเอียดอ่อน
ซึ่งยากที่จะอธิบายได้ ณ ที่นี่
การปฏิบัติธรรมของหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ ในเขตประเทศพม่า
เมื่อท่านเห็นกาลอันเป็นสมควรแล้ว ท่านได้ออกเดินธุดงค์มุ่งมาทางจังหวัดเชียงใหม่
เพื่อดำเนินตามเป้าหมายอันสำคัญแห่งชีวิต คือ จะต้องไปพบกับหลวงปู่มั่นให้ได้
ไม่ว่าท่านจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็จะติดตามให้จนพบ
เพื่อขอมนัสการและอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน ในที่สุดท่านก็ได้พบหลวงปู่มั่น
จอมปราชญ์ในทางธรรม อย่างสมใจ
การเข้ามนัสการ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ
ในครั้งแรกพบนั้น
ศิษย์ผู้เคยได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านได้เล่าความในใจที่สืบทอดต่อๆ
กันมาพอเป็นอุบายให้มีการสำรวมใจขณะเข้าพบครูบาอาจารย์ว่า...ขณะที่หลวงปู่พรหมมองเห็นหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก
ท่านก็นึกประมาทอยู่ในใจว่า “พระองค์เล็กๆ
อย่างนี้นะหรือ...ที่ผู้คนเข้าร่ำลือว่าเก่งนัก ดูแล้วไม่น่าจะเก่งกาจอะไรเลย”
ท่านเพียงแต่นึกอยู่ในใจของท่านท่านั้น
ครั้นพอสบโอกาส หลวงปู่พรหมก็เข้ามนัสการ คำแรกที่หลวงปู่มั่นท่านกล่าวขึ้นท่านถึงกับสะดุ้ง
เพราะว่าหลวงปู่มั่นท่านได้กล่าวทำนองที่ว่า “การด่วนวินิจฉัยความสามารถของคนโดยมองดูแต่เพียงร่างกายเท่านั้นไม่ได้
จะเป็นการตั้งสติอยู่ในความประมาท” คำพูดของหลวงปู่มั่นนี้เองทำความอัศจรรย์ให้เกิดขึ้น
บังเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะต้องให้ความเคารพนับถือ
นี้เพียงแต่นึกคิดในใจอยู่เท่านั้น หลวงปู่มั่นก็สามารถทายใจได้ถูกเสียแล้ว
หลวงปู่พรหมก็ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ภายหลังจากได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่นแล้ว
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านได้สละกำลังกายและกำลังใจทุ่มเทให้แก่การประพฤติธรรมอย่างหมดชีวิตจิตใจ
ดูเหมือนว่าเวลาแห่งการปฏิบัติธรรมเท่านั้น ท่านได้กำหนดจดจำ
เรียนรู้กฎปฏิบัติปฏิปทาข้อวัตรของพระฝ่ายธุดงคกรรมฐานในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ
เริ่มตั้งแต่เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ครองผ้าสามผืนเป็นวัตร เที่ยวไปตามภูเขา ถ้ำ
ป่าช้า โคนไม้เป็นวัตร อันเป็นสิ่งที่คณะศิษย์ทั้งปวงกระทำอยู่เป็นนิจ
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงปู่พรหม ได้อยู่กับท่านอาจารย์ขาว
อนาลโย ที่วัดดอยจอมแจ้ง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีหมู่คณะอยู่ด้วยกัน ๖ รูป
คือ
๑.
ท่านอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ
๒.
ท่านอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ
๓.
ท่านอาจารย์ขาว อนาลโย
๔.
ท่านอาจารย์นู
๕.
ท่านอาจารย์คำ
๖.
ท่านพระมหาทองสุก สุจิตฺโต (พระครูอุดมธรรมคุณ)
ในขณะนั้น ท่านอาจารย์ขาว อนาลโย ได้ ๑๓ พรรษา
หลวงปู่พรหมก็คงมีพรรษาไล่เลี่ยกัน ในพรรษานี้ท่านได้ประกอบความเพียรมาก
ถือเพียงอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ไม่ถืออิริยาบถนอนตลอดไตรมาสสามเดือน
ส่วนมากท่านถือการเดินจงกรมเป็นกิจวัตรประจำวัน
เมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้เที่ยวแยกย้ายกันไปหาวิเวกในถิ่นต่างๆ ส่วนหลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ ได้ไปทางเหนือถึงเมืองโต่น เมืองหาง
เขตแคว้นเมืองตุง ท่านได้พักทำความเพียรอยู่ที่ถ้ำปุ้มเป้
ใกล้เขตเมืองนี้ ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนี้หนึ่งพรรษา
ได้บำเพ็ญสมณธรรมโดยสะดวกสบายดี ไม่มีการติดขัดในทางภาวนามาบำเพ็ญจิตใจ
ออกพรรษาแล้ว จึงได้เดินทางกลับมาพบกับท่านอาจารย์ขาวอีก
ที่บ้านป่าแก้ง ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
ได้สนทนาธรรมกันพอสมควรแล้ว
พระอาจารย์พรหมก็ได้กล่าวถ้อยคำขึ้นด้วยความเบิกบานในขณะนั้นว่า
ปัญญาผู้ทำแสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้ว จะไปในทิศานุทิศใดๆ
ไม่มีความหวาดกลัวอีกแล้ว
ในขณะนั้น
ท่านได้ถามปริศนาปัญหากับท่านอาจารย์ขาว ว่า เมื่อครูบามรณภาพแล้วจะไปอยู่ที่ไหน
นี้เป็นปัญหาที่แก้ยากสำหรับปุถุชนทั่วไป
พระอาจารย์ขาวได้กล่าวตอบว่องไว
ไม่ติดขัดและถูกต้องตามความเป็นจริงแห่งสัจธรรมว่า อยู่ที่ไหนก็ไม่อยู่
ไปข้างหน้าข้างหลังก็ไม่ไป ขึ้นบนก็ไม่ขึ้น ลงข้างล่างก็ไม่ลง ทิศเหนือ ทิศใต้
ทิศตะวันตก ทิศตะวันออกก็ไม่ไป ดังนี้
เมื่อพระอาจารย์ขาวได้กล่าวแก้ปัญหานี้จบลงแล้ว พระอาจารย์พรหม
ก็กล่าวรับรองว่า แน่ทีเดียว
พระอาจารย์พรหม
ได้กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อความจริงมีอยู่ดังนี้ ทำไมครูบาจึงคิดดุด่าตัวของตัวมากนัก
ได้รับคำตอบว่า
ดุด่าก็ดุด่า แต่ลำพังใจตัวเองเท่านั้น
ไม่ได้ออกปากออกเสียงให้กระเทือนใจผู้อื่น ถึงคราวเราชนะก็ข่มขี่มันไปอย่างนั้นละ
ตอนนี้แสดงให้เห็นว่าท่านอาจารย์พรหมคงล่วงรู้ความนึกคิดภายในจิตใจของท่านอาจารย์ขาวไว้เป็นการล่วงหน้าแน่นอนทีเดียว
อีกตอนหนึ่ง
ท่านอาจารย์ขาวได้ให้โยมนำพระพุทธรูปทองคำซึ่งถูกพวกพาลชนทำลายพระเศียร
แขนขาก็ไม่มี ถูกตัดไปหมด ยังเหลือแต่แท่นกลางองค์ ทำเป็นเกลียวต่อกันไว้
ท่านจะไปไหนก็คิดถึงมิได้วาย เมื่อเอาลงจากดอยแล้ว ปรารภจะให้ช่างมาต่อพระเศียร
แขนขา ให้เป็นองค์พระที่สมบูรณ์ขึ้นมา โยมผู้มีศรัทธารับอาสาจัดหาเครื่องอุปกรณ์
เช่น เหล็ก ปูน ทรายมาให้ยังขาดแต่ช่างผู้สามารถทำได้ ยังนึกไม่เห็นใคร
เห็นแต่อาจารย์พรหมเท่านั้น พอจะมีฝีมือทำได้กระมัง
ขณะนั้นท่านอาจารย์พรหมพักอยู่ที่ป่าเมี่ยง อำเภอแม่สาย ท่านอาจารย์ขาวจึงไปหาท่านด้วยตนเอง
เมื่อไปถึงแล้วได้เล่าเรื่องราวให้ท่านอาจารย์พรหมฟัง เสร็จแล้วได้ถามต่อไปว่า
พอจะบูรณะซ่อมแซมให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ก็ได้รีบตอบในทันทีว่า ไม่ยาก
ขอแต่ให้มีเครื่องอุปกรณ์คือปูนซีเมนต์เท่านั้นก็ทำได้
จากนั้นท่านอาจารย์ทั้งสองก็ได้ติดตามกันมาจนถึงตำบลโหล่งขอดที่ได้เอาพระพุทธรูปมาไว้ก่อนแล้ว
พอมาถึงได้อุปกรณ์เพียงพอท่านก็ลงมือทำทันทีจนเป็นที่เรียบร้อย
สมควรแก่การกราบไหว้สักการบูชาของพุทธศานิกชนทั่วไป เมื่อทำเสร็จแล้ว
ท่านอาจารย์พรหมก็พิจารณาถึงมูลเหตุที่เป็นมา ก็ได้ทราบทันทีว่าพระพุทธรูปองค์นี้ เมื่อเวลาทำหล่อแต่อดีตที่ผ่านพ้นมานานโน้น
พระอาจารย์ขาวได้เป็นช่างสูบลมในเวลาหล่อ พอท่านอาจารย์เผยความจริงออกมาเช่นนั้น
ท่านอาจารย์ขาวก็พูดรับรองว่าเป็นความจริง เพราะผมจะไปที่ไหนๆ
ก็คิดถึงพระพุทธรูปนี้อยู่เสมอ เรื่องที่เล่ามานี้ แสดงว่าท่านอาจารย์พรหมได้ล่วงรู้เหตุการณ์ในอดีตเป็นอันดี
ซึ่งเป็นการยากที่คนธรรมดาสามัญจะรู้ได้อย่างนั้น นอกจากเป็นการเดามากกว่า
ท่านอาจารย์พรหมได้พักอยู่จำพรรษาที่ตำบลโหล่งขอดนี้หนึ่งพรรษา
จากนั้นก็พักวิเวกจำพรรษาแห่งละหนึ่งพรรษา คือ บ้านโป่ง ป่าเมี่ยง และอำเภอแม่สาย
แล้วท่านก็ได้กลับมาทางภาคอีสานถิ่นเดิม
ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ให้ผู้อื่นสมบูรณ์บริบูรณ์นับว่าเป็นผู้ที่หาได้ยากยิ่ง
หลายครั้งที่หลวงปู่พรหมและหลวงปู่ขาวท่านได้ออกเดินธุดงค์เที่ยววิเวกไปอยู่ป่าเขาด้วยกัน
ต่างก็ได้มุ่งมั่นที่จะศึกษาธรรมปฏิบัติ ขจัดกิเลส ตัณหา อุปาทาน
ออกจากจิตใจด้วยกันทั้งสิ้น นับได้ว่าการที่ได้ฝึกฝนอบรมธรรมในภาคเหนือนี้
ท่านได้พบกับพระสุปฏิบัติผู้เป็นคู่อรรถคู่ธรรมโดยแท้จริง หลวงปู่พรหมท่านได้ถือภาคแห่งการปฏิบัติธรรมหักโหมขั้นอุกฤษฏ์ก็ในปี พ.ศ.
๒๔๘๐ นี้เอง ครูบาอาจารย์ผู้เป็นศิษย์บอกเล่าต่อกันมาดังนี้
เมื่อหลวงปู่พรหมท่านได้มาอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่นแล้ว
ท่านถือว่าตัวของท่านได้มาอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ผู้เลิศแตกฉานในทางธรรม
ดังนั้นหลวงปู่พรหมท่านได้เร่งทำความเพียรอย่างเต็มที่ คือ ท่านได้ถืออิริยาบถ ๓
ประการ ได้แก่ ยืน...เดิน...นั่ง..ตลอดไตรมาสท่านไม่ยอมนอนให้หลังแตะพื้นหรือพิงเลยโดยถือคติธรรมของหลวงปู่มั่น
ว่า...ธรรมอยู่ฟากตายถ้าไม่รอดตายก็ไม่เห็นธรรม
เพราะการเสี่ยงต่อชีวิตจิตใจอันเกี่ยวกับความเป็นความตายนั้น
ผู้มีจิตใจมุ่งมั่นต่ออรรถธรรมแดนหลุดพ้นเป็นหลักยึดของพระผู้ปฏิบัติพระกรรมฐานจริงๆ
ฉะนั้น อุปสรรคต่างๆ ย่อมได้พบอยู่เสมอ
ดังครูบาอาจารย์หลายๆ องค์ถ้าแม้จิตใจไม่แน่วแน่มั่นคงจริงๆ ก็จะทำไม่ได้
บางคราวผู้อดหลับอดนอนมากๆ สูญประสาทเสียจริตไปก็มี
บ้างก็เดินชนต้นไม้ใบหญ้าให้วุ่นวาย หรือไม่เวลาออกบิณฑบาตเที่ยวตะครุบผู้คนก็มี
เพราะเดินหลับใน เกิดอาการตึงเครียดไม่สามารถทรงสติตนเองได้ อย่างไรก็ตาม
ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำให้ปฏิบัติเพิ่มสติกำลังให้แก่กล้าจริงๆ จึงจะทำได้
เมื่อถึงคราวเร่งความเพียรก็ย่อมจะได้พบความสำเร็จโดยไม่ยาก
ปฏิปทาของหลวงปู่พรหมในเรื่องนี้
สมัยแรกพบกับหลวงปู่มั่นใหม่ๆ ท่านก็เคยคิดทำความเพียรเช่นนี้เหมือนกัน
แต่ถูกหลวงปู่มั่นท่านห้ามไว้ก่อน เพราะจะเป็นการหักโหมเกินกำลัง
โดยท่านแนะให้นั่งสมาธิฝึกจิตเสียก่อน
ครั้นเมื่อกำลังจิตแก่กล้าแล้วท่านมาเร่งทำความเพียรอย่างหนักหน่วง
ผลประโยชน์จึงบังเกิด แก่หลวงปู่พรหม ท่านสามารถสำเร็จธรรมขั้นสูงในภาคเหนือนี้เอง
อันยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวท่านและหมู่คณะเป็นอันมาก
สมัยที่หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านเที่ยววิเวกอยู่กลางป่าเขา ท่านได้พบกับสิ่งแปลกๆ และอัศจรรย์มากมาย
แต่ท่านไม่สามารถเล่าให้ละเอียดลงไปได้ ไม่ว่าสถานที่ เวลา ปีใดๆ
ไม่สามารถกำหนดชี้ชัดลงไปได้เลย นอกเสียจากการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านเท่านั้น
ท่านเดินธุดงค์บุกป่าฝ่าดงไปในที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ
ท่านเดินตลอดวันตลอดคืนก็ไม่พบปะบ้านช่องเรือนชานของผู้คน
ในเวลาที่ต้องผจญทุกข์เช่นนี้ ท่านมีแต่ความอดอยากทรมานเสียมากกว่าความอิ่มกายสบายใจ
ท่านต้องทนยอมต่อความหิวโหยอ่อนเพลีย ทั้งนี้เพราะหลงทาง
ท่านต้องนอนค้างอยู่กลางป่าเขา
เฉพาะการเดินธุดงค์ในช่วงออกไปทางประเทศพม่าเป็นความยากลำบากมากเมื่อคราวเดินวิเวก
เพราะทางที่ไปนั้นมีแต่สัตว์ป่านานาชนิด เช่น พวกเสือและงูพิษที่ไม่ยอมกลัวคน
บางครั้งก็ต้องปลงอนิจจังต่อความทุกข์ที่ต้องทรมานสุดแสนจะทนและมีชีวิตสืบต่อไปวันข้างหน้า
เมื่อนึกปลงใจตัวเองแล้ว ก็ดูเหมือนกับว่า สิ่งต่างๆ ในร่างกายมันจะหยุด
สุดสิ้นลงไปพร้อมๆ กัน ลมหายใจก็เหมือนขาดตอนที่ต่อเนื่องกัน
นี่เป็นเครื่องถ่วงทรมานกายใจตอนนั้น แต่ในที่สุด มันก็พอทนอยู่ต่อไปได้อีกตามเหตุการณ์และวันเวลาผ่านไป
อยู่เพื่อธรรมะ แม้ไปก็ยังมีธรรมะคู่กับจิตใจไม่เอนเอียงหวั่นไหวเลย
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยความเคร่งครัด
และยังเป็นผู้มีนิสัยเคร่งขรึมและเด็ดเดี่ยวยิ่ง ท่านได้สละพันธะทางโลกซึ่งท่านเป็นเจ้าของ
ทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่มีอยู่ทั้งที่มีวิญญาณ (วัว-ควาย) และที่ไม่มีวิญญาณ
มีค่านับล้านบาทเพื่อแจกเป็นทานบารมี
การที่ได้บวชเข้ามาในบวรพุทธศาสนาก็เพื่อปลดเปลื้องภาระทางใจ
อันประกอบด้วยกิเลสตัณหาที่เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ ท่านจึงดำรงชีวิตในเพศพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย
มีความสันโดษเป็นที่ตั้ง ยึดมั่นในพระธรรมคำสั่งสอน
แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติด้วยชีวิตจิตใจ ยากที่บุคคลทั่วไปจะเสมอเหมือน
ด้วยความพยายามดังที่กล่าวมานี้ ท่านได้รับคำชมเชยจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ
ต่อหน้าพระเถระผู้ใหญ่หลายๆ ท่านว่า “เป็นผู้มีความพากเพียรสูงยิ่ง
มีความตั้งใจแน่วแน่ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดที่สุด
เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระภิกษุทั้งหลายควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง”
หลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ ท่านได้อยู่ใกล้หลวงปู่มั่น เป็นเวลานานหลายพรรษา ตลอดเวลาที่ได้อยู่ปฏิบัติธรรม
ท่านมีจิตใจที่ก้าวหน้าทางปฏิบัติอย่างไม่หยุดยั้ง มีความแน่ใจตนเองมากยิ่งขึ้น
ท่านได้รับการอบรมอย่างสม่ำเสมอ เวลาบางปีหลวงปู่มั่น ได้เมตตาให้อยู่จำพรรษาด้วย
นับเป็นโอกาสอันอุดมของท่าน ส่วนบางปีท่านจะปลีกตัวออกไปบำเพ็ญในป่าแต่เพียงลำพัง
เพราะเป็นนิสัยของท่านที่ไม่ชอบอยู่กับที่นานๆ นั่นเอง
หลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ ท่านเป็นอริยเจ้าผู้มีคำพูดน้อย ถือสันโดษ มักน้อย
ไม่มีจิตฟุ้งซ่านกับสังคมภายนอก
หลวงปู่ท่านไม่ประสงค์ให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องเดือดร้อนเป็นการรบกวน ยุ่งยาก อนึ่ง
ท่านก็อยู่จำพรรษาในดงลึก ยากแก่การเข้าถึง (สมัยนั้น)
เมื่อมีคณะญาติโยมสู้อุตส่าห์เดินทางไปจนถึงที่พักของท่าน
ท่านก็จะพูดจาปราศรัยเพียงประโยคเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นที่เข้าใจ
ท่านก็ให้รีบกลับทันที
ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นปีสุดท้ายที่หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
อำลาภาคเหนือ ท่านได้เดินธุดงค์มาทางภาคอีสาน
เมื่อมาถึงภาคอีสานแล้วก็ได้ไปสมทบกับพระอาจารย์ของท่านที่วัดสุทธาวาส
จังหวัดสกลนคร และได้อยู่จำพรรษาที่นั่น ในระหว่างที่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ
ท่านได้ไปอยู่จำพรรษาที่วัดป่าภูริทัตตถิราวาส ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม
จังหวัดสกลนคร
ในระยะหนึ่ง บรรดาพระเถระทั้งหลายพากันไปกราบมนัสการท่านอาจารย์ใหญ่มั่น
ซึ่งมีพระอาจารย์พรหมรวมอยู่ด้วย ได้ฟังโอวาทของท่านอาจารย์ใหญ่มั่นแล้ว
เฉพาะต่อหน้าพระเถระทั้งหลายที่ร่วมฟังโอวาทด้วยกัน
ท่านอาจารย์ใหญ่มั่นถามท่านอาจารย์พรหมขึ้นว่า ท่านพรหม มาแต่ไกลเป็นอย่างไรบ้าง
การพิจารณากาย การภาวนาก็ดี เป็นอย่างไร ท่านอาจารย์พรหมเรียนถวายว่า “ไม่มีอกถังกถี” (สิ้นสงสัย) แล้ว
ท่านอาจารย์ใหญ่มั่นได้ยกย่องชมเชยท่านอาจารย์พรหมต่อหน้าพระเถระทั้งหลายว่า
ท่านพรหมเป็นผู้มีสติ ทุกคนควรเอาอย่าง
ครั้นกาลต่อมาท่านอาจารย์พรหมได้กลับจากการอยู่ใกล้ชิดท่านอาจารย์ใหญ่มั่นที่หนองผือนาใน
มาอยู่ที่บ้านดงเย็นอันเป็นถิ่นเดิม ได้พาญาติโยมสร้างวัดประสิทธิธรรม
พร้อมด้วยสร้างถาวรวัตถุขึ้นภายในวัดเป็นจำนวนมาก เช่น สร้างกุฎี วิหาร
ศาลาการเปรียญ บ่อน้ำภายในวัดนอกวัด พาญาติโยมทำถนนหนทาง
สร้างโรงเรียนประชาบาลบ้านดงเย็น และสร้างสะพานข้ามลำน้ำสงคราม
เป็นสาธารณประโยชน์ไว้มากมาย
นอกจากท่านได้สร้างและอยู่จำพรรษา
ที่วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็นแล้ว ท่านยังได้ทำประโยชน์แก่ชุมชนใกล้เคียง
ทั้งทางวัดและทางบ้าน บางปีจำพรรษาที่วักบ้านถ่อน ตำบลโพนสูงสร้างโบสถ์ วิหาร
ศาลาการเปรียญ กุฎี และสะพานข้ามทุ่งนาจากบ้านไปวัดยาวประมาณ ๑๑ เส้น
บางปีจำพรรษาที่วัดตาลนิมิต บ้านตาล ซึ่งเป็นมาตุภูมิของท่าน สร้างกุฎี วิหาร
ต่อมาสงฆ์ได้พากันผูกพัทธสีมาใช้ในสังฆกรรมจนกระทั่งปัจจุบันนี้
นับว่าท่านบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่นได้สมบูรณ์ยิ่ง ยากที่ผู้อื่นจะทำได้เหมือนอย่างท่านจึงเป็นที่เคารพกราบไหว้บูชาของผู้มุ่งประโยชน์สุขโดยทั่วไป
สรุปความในธรรมะของหลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ ได้ดังนี้คือ “เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาติหนึ่ง
และมนุษย์นี่เองที่สามารถยังประโยชน์
ก็ได้เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตนเองตลอดถึงวงศาคณาญาติกว้างไปไกลถึงสังคมชุมชนน้อยใหญ่ให้มีแต่ความเจริญสุขสถาพร
ยิ่งได้สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมพลเมืองด้วยแล้ว
ย่อมนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติ บ้านต่างก็อยู่ดีมีสุขทุกเรือนชาน
เพราะมนุษย์มีสติปัญญา มีธรรมะประจำจิตใจด้วยกัน ก็มนุษย์นี้แหละกระทำขึ้นให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ทั้งสิ้น
การทำความชั่ว...ถ้ามนุษย์พึงปรารถนาใช้สติและปัญญาเที่ยวสร้างสรรค์แต่ความชั่วร้ายป่าเถื่อน...อันประกอบตนเองลดฐานะของจิตใจให้ตกอยู่กับฝ่ายชั่วร้าย
ก็มีแต่เที่ยวเบียดเบียนบั่นทอนผู้อื่นให้ได้ความทุกข์เดือดร้อน ออกเกะกะระราน
เที่ยวฆ่า ปล้น ชิงทรัพย์ ทำลายล้างให้ตนเองและวงศาคณาญาติ
ลุกลามไปในชุมชนน้อยใหญ่ ก็จะมีแต่ก่อเวรภัยหาความสุขมิได้
ยิ่งมนุษย์นำสติปัญญาที่มัวเมาไปด้วยความชั่วและสิ่งเลวร้าย มีนายคือ
จอมกิเลสคอยบงการ ก็เอาสติปัญญานั้นแหละเที่ยวค้นคิดสร้างอาวุธยุทธนา
แล้วนำมารบราฆ่าฟันกันตาย ทำลายชีวิตและสมบัติซึ่งกันและกัน
ทำลายล้างแม้ประเทศชาติบ้านเมืองให้ฉิบหายล่มจม ล้างผลาญแม้กระทั่งสมณะเณร ชี
ให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างที่เราท่านทั้งหลายมองเห็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อยังไม่ตายหายจาก วิบากของความชั่วเลวร้ายนั้นก็คอยไล่ล้างผลาญตนเองให้เที่ยวหนีซุกซ่อน
เหมือนสัตว์ที่ถูกน้ำร้อน เลยหาความสุขไม่ได้ เป็นนรกบนดินด้วยเหตุฉะนี้”
เพราะฉะนั้น
ธรรมะที่หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ ท่านได้เมตตาประทานให้แก่พวกเราทั้งหลาย
ก็เพื่อสอนสั่งให้พวกเรา จงทำแต่ความดีที่มีคุณประโยชน์ จงอย่าทำความชั่ว
เพราะรังแต่จะเกิดโทษอันอเนกอนันต์ ท่านให้เรามีสติปัญญา พิจารณาตรึกตรองให้มีทาน
มีศีล มีภาวนา ก็จะบังเกิดปัญญาธรรมอันล้ำค่ามหาศาลนั่นเอง
ที่วัดบ้านดงเย็น
สมัยเมื่อหลวงปู่พรหมท่านยังมีชีวิตอยู่
ก็มักมีบรรดาคณะศรัทธาญาติโยมและสาธุชนเดินทางไปกราบมนัสการท่านอยู่เสมอๆ แม้หนทางในสมัยนั้นการคมนาคมไม่สะดวกอย่างเช่นปัจจุบันนี้
การเข้าไปพบเพื่อกราบมนัสการมิใช่ของง่าย ทางก็ไม่ดี
อีกทั้งยังเป็นป่าไม้อันหนาแน่น
ถึงกระนั้นทุกคนก็ได้พยายามจนไปถึงที่ท่านพำนักจำพรรษาอยู่อย่างน่าสรรเสริญยิ่ง
จิตที่ปกติแล้วของหลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ ย่อมเป็นจิตที่อัศจรรย์ คือ มีความรู้ความเห็นอันผิดไปจากมนุษย์ธรรมดาๆ
จะรู้เห็นหรือเข้าใจ เมื่อคณะญาติโยมคนใดก็ตามมาถึงวัดที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น
ท่านจะรู้วาระจิตของทุกๆ คนที่มา ท่านสามารถทายใจของทุกคนได้ถูกต้องและแม่นยำ
อย่างเช่น มีบุคคลที่ไปทำบุญกับท่านแต่มีสิ่งหวังตั้งใจมา
ท่านก็จะพูดเตือนสติทันทีเมื่อพบหน้ากัน ดังนี้ “การที่จะทำบุญทำทานนั้นต้องมีใจตั้งมั่นและให้เกิดศรัทธาในบุญกุศลทานเสียก่อน
ถ้าไม่ศรัทธา ใจไม่ตั้งมั่นแล้ว...อย่าทำ...จะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย...”
บางคราวจะมีญาติโยมชาย-หญิง
ที่เดินทางไปถึง ก็เที่ยวเดินชมวัดและบริเวณต่างๆ
แล้วพูดคุยในลักษณะประจบทำบุญเอาหน้าเอาตากันว่า ฉันจะต้องมาสร้างโน่นมาสร้างนี่
จะทำอย่างนั้นทำอย่างนี้
แต่จิตใจนั้นมีเจตนาหวังผลหรือตั้งตัวเองให้เป็นผู้มีสนิทชิดเชื้อกับตัวท่าน
มีบุญมีคุณต่อท่านแล้ว ท่านมักจะเตือนว่าถ้าไม่ศรัทธามีเจตนาเป็นอื่นก็ไม่ควรจะทำ
แต่ถ้ามีญาติโยมคนใดเข้าไปมนัสการและมีเจตนาดีมองเห็นคุณมองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยส่วนรวมแล้ว
แม้ยังไม่ได้บอกกล่าวแก่ผู้ใดเลย หลวงปู่พรหมก็สามารถรู้ด้วยจิตภายใน
ท่านจะอนุโมทนาและกล่าวขึ้นพอเป็นปฐมดังนี้ว่า “ท่านมีเจตนาดีก็ทำไปเถิด
เพราะสิ่งนั้นเป็นบุญเป็นกุศล” ขนาดหลับท่านยังรู้
หลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติธรรมที่ควรแก่การเคารพบูชา
แม้ครูบาอาจารย์ในสมัยปัจจุบันก็ยังกล่าวถึงท่าน ด้วยกิตติคุณอันงดงามอยู่เสมอ
สมัยหลวงปู่พรหมท่านกลับมาถึงบ้านดงเย็น ท่านได้สร้างความอัศจรรย์แก่พวกเราให้ได้เห็นมากมาย
เมื่อท่านมาอยู่ได้ไม่นานก็มีชาวบ้านบวชพระตามท่านไปหลายองค์
พวกชาวบ้านก็เข้าวัดเข้าวา ดีอกดีใจที่มีวัดปฏิบัติเป็นของตนเอง
วันที่
๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๒
เค้าแห่งปริศนาธรรมความเป็นจริงได้ปรากฏชัดภายในจิตใจของหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
เสียแล้ว ชาวบ้านดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
จะมีคนไหนรู้ได้บ้างว่า...ขณะนี้ต้นโพธิ์ต้นไทรที่เคยให้ความสงบสุขรื่นรมย์แก่พวกเขาทั้งหลาย
กำลังจะถูกพายุอันเกิดจากอำนาจพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มาโค่นมาถอนออกไปจากจิตใจของพวกเขา ก็เพราะความไม่เที่ยงตรง ไม่แน่นอน
อยู่ไปก็มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แท้จริงก็เป็นธาตุเฉยๆ ไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ จึงสามารถกำหนดรู้ชัดด้วยจิตใจอันเป็นหนึ่งของท่าน
โดยได้ปลงสังขาร กล่าวอำลา ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
ไม่ขอกลับมาพบเห็นคลุกเคล้ากันอีกต่อไป
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านได้แสดงธรรมปฏิบัติอันเป็นอุบายธรรมให้ทุกคนได้พิจารณาน้อมนึกถึงความตายอยู่เสมอๆ
จงอย่าได้ประมาท
การปฏิบัติตนให้เกิดสติปัญญาโดยเป็นเครื่องมือพิจารณาให้เห็นแก่นแท้ของธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนโลก
พร้อมทั้งได้ชี้แนะอยู่ในตัว คือ พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนโลก
ทรงให้วินิจฉัยด้วยสติปัญญา มองดูความเคลื่อนไหวอาการของกิเลสทางใจ
มีอาการเป็นไปทางใดบ้างในวันหนึ่งๆ
วันที่หลวงปู่พรหม
จิรปุญฺโญ ท่านจะมรณภาพท่านได้เข้าห้องน้ำตั้งแต่เช้า
ท่านปิดประตูใส่กลอนเงียบอยู่ จนเวลาที่จะต้องออกบิณฑบาต ผู้ที่เฝ้ารออยู่หน้าห้องน้ำก็นั่งเฉยๆ
ครั้นจะบุ่มบ่ามเข้าไปก็ไม่กล้า นั่งรออยู่จนกระทั่งประตูห้องน้ำเปิด
หลวงปู่ท่านโซเซออกมา ก่อนพ้นประตูท่านล้มลงไป
พระผู้อยู่ใกล้วิ่งเข้าไปรับแล้วประคองท่านเข้ามานอนในห้อง
วันนั้นแทบไม่ได้ออกบิณฑบาตกันเลย ต่างก็มีหน้าที่ของตนคอยรับใช้ครูบาอาจารย์อย่างใกล้ชิดก่อนที่ท่านจะสิ้น
ชีพจรของท่านแทบจะไม่เต้น เพราะทุกคนคอยตรวจเช็คกันอยู่ตลอดเวลา
กาลเวลาค่อยๆ
ผ่านไปๆ แต่ละวินาทีดูเหมือนว่าโลกจะหยุดนิ่ง คนที่อยู่ใกล้ๆ
ท่านต่างก็เพ่งมองดูอาการแทบไม่หายใจ เพราะความรู้สึกเป็นอย่างนั้นจริงๆ
ขณะที่ท่านจะสิ้นใจ ท่านได้รวบรวมพลังจิตอันแก่กล้าลืมตาขึ้นมามองลูกศิษย์ทั้งหลาย
มีทั้งพระ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทุกคน
คล้ายกับกล่าวอำลาแล้วท่านก็ยกมือขึ้นพนมเหนืออก เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
จากนั้นหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ได้จากโลกนี้ไป ชีพจรของท่านหยุดเต้น มือที่ยกขึ้นพนมตกลงข้างกาย
บัดนี้
หลวงปู่พรหมได้จากบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทุกคนไปด้วยอาการสงบระงับ จิตเข้าสู่แดนเกษมเมื่อเวลา ๑๗.๓๐ น. ของวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ด้วยโรคชรา
สิริอายุได้ ๘๑ ปี พรรษา ๔๓
ในการครั้งนี้
เพื่อเป็นปฏิการะและกตัญญูกตเวทิตาธรรมในพระคุณของท่านอาจารย์พรหม จิรปุญโญ
คณะศิษยานุศิษย์พร้อมด้วยทายกทายิกาที่เคารพนับถือในท่าน
ได้พร้อมกันเสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์และกำลังความคิด
จัดสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่าน
ซึ่งหลวงปู่ท่านเริ่มขุดหลุมวางรากฐานไว้ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ
เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อนุชนรุ่นหลังขึ้นที่วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น ตำบลดงเย็น
อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ส่วนสูง ๒๐ เมตร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สิ้นทุนทรัพย์ไปประมาณสองแสนบาทเศษ
ข่าวการมรณภาพของพระอริยเจ้าแห่งบ้านดงเย็นได้แพร่ขยายไปไกล
ทุกคนมีแต่ความสลดเสียดายพระผู้ทรงคุณธรรมสูงเช่นหลวงปู่ท่าน
ทุกคนเมื่อได้ทราบข่าวนี้ต่างก็ได้รำพึงถึงพระคุณความดีงามของท่าน
เพราะท่านเคยอยู่ให้เป็นกำลังใจแก่ทุกๆ คน อีกทั้งยังได้ประสิทธิธรรมะให้แก่ศิษย์
พระ ฆราวาส ทั้งชายหญิง ที่หาประมาณไม่ได้
บรรดาคณะศิษย์ชาย-หญิงที่เป็นฆราวาส
อันประกอบด้วยชาวกรุงเทพฯ ชาวเชียงใหม่ และอีกหลายๆ จังหวัด
ต่างก็มุ่งหน้าอุตส่าห์เดินทางกันไป แม้จะทุกข์ยากลำบากเพียงใด ใกล้ไกลแค่ไหน
จะสิ้นเปลืองอย่างไร ทุกคนดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจถึง นอกจากขอให้ได้ไปกราบศพ
แสดงคารวะเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยหัวใจมุ่งหวังเคารพและศรัทธา บ้านดงเย็นที่ว่าไกลแสนไกลอีกทั้งยังกว้างใหญ่ไพศาล
ก็กลายเป็นสถานที่คับแคบเสียแล้วเวลานั้น นอกจากนี้ นับว่าเป็นโอกาสอันดีของทุกๆ
คน ที่มาร่วมงานสำคัญ เพราะพระกรรมฐานในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ
ได้เดินทางไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก
๏
อัฐิท่านได้กลายเป็นพระธาตุในเวลาอันสั้น
อัฐิท่านที่ได้ทำการแจกจ่ายแก่ท่านที่มาในงานไปไว้เป็นที่ระลึกสักการบูชาในที่ต่างๆ
มีมากต่อมากจึงไม่อาจทราบได้ว่าของท่านใดได้แปรสภาพจากเดิมหรือหาไม่ประการใดบ้าง
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีท่านที่ได้รับอัฐิท่านมาแล้วอัฐินั้นได้กลายเป็นพระธาตุ
๒ องค์ หลังจากนั้นก็ได้ทราบทางหนังสือพิมพ์ “ศรีสัปดาห์” อีกว่า อัฐิท่านได้กลายเป็นพระธาตุแล้วก็มี ที่ยังไม่กลายเป็นพระธาตุก็มี
ซึ่งอยู่ในผอบอันเดียวกัน
จึงทำให้เกิดความอัศจรรย์ในคุณธรรมของท่านว่า
ท่านเป็นผู้บรรลุถึงแก่นธรรมโดยสมบูรณ์แล้ว ดังวงปฏิบัติเคยพากันคาดหมายท่านเป็นเวลานาน
แต่ท่านไม่ได้พูดออกหน้าออกตาเหมือนทางโลกปฏิบัติกัน เพราะเป็นเรื่องของธรรม
ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมจะพึงสำรวมระวังให้อยู่ในความพอดี ท่านได้พบดวงธรรมอันประเสริฐ
สามารถกำชัยชนะด้วยการบรรลุธรรมวิเศษ ปลดเปลื้องภาระหมดกิจ
หมดหน้าที่ไปแล้วโดยสมบูรณ์ฯ
โอวาทครั้งสุดท้ายที่หลวงปู่แสดงแก่โยมอุปัฏฐากใกล้ชิดคนหนึ่ง
คือ ครูชาย วงศ์ประชุม ก่อนท่านมรณภาพ ๒ วัน ดังบทเรียบเรียงของครูชายดังนี้
“วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๒ ได้ตั้งใจไว้ว่าจะไปธุระที่จังหวัดสกลนคร
แต่มีเหตุบันดาลใจยากจะไปกราบมนัสการท่านพระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ อีก
เพราะในอาทิตย์ที่แล้ว ข้าพเจ้าพร้อมด้วยภรรยาและช่างทำฟัน
ไปทำฟันให้ท่านใหม่เพราะท่านมีอาการปวดฟัน
เมื่อเกิดสังหรณ์ในใจเช่นนี้จึงได้เปลี่ยนความตั้งใจใหม่
ได้ชวนภรรยาไปมนัสการท่านอีก ไปถึงดงเย็นเวลา ๑๒.๒๐ น.
ได้จอดรถจักรยานยนต์ไว้ที่ใต้ร่มมะม่วงแล้ว จึงพากันขึ้นไปมนัสการท่านบนกุฎี
ปรากฏว่าท่านได้นั่งรอคอยอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมนัสการกราบไหว้ท่านเสร็จแล้ว
ท่านจึงได้พูดขึ้นว่า
“อาตมาได้ยินเสียงเครื่องบินว่าแม่นเสียงรถของเจ้า” ว่าแล้วท่านก็ลุกขึ้นไปหยิบเอากาน้ำเพื่อไปกรองน้ำที่โอ่ง
ข้าพเจ้าลุกขึ้นติดตามท่านรับเอากาน้ำจากท่านกรองน้ำแทนท่าน
แล้วท่านยังไปยกเก้าอี้มาเพื่อเหยียบขึ้นเอาแก้วน้ำอยู่ที่กล่องบนเพดานกุฎีนั้น
ข้าพเจ้าจึงมิได้รอช้า รีบไปหยิบเอาแก้วน้ำแทนท่านอีก
เมื่อกรองน้ำล้างแก้วน้ำเสร็จ จึงได้นำมาถวายท่าน เมื่อนำกาน้ำเข้าไปถวายท่าน
ท่านได้บอกว่า “อาตมาไปเอาน้ำมาให้พวกเจ้ากิน”
เสร็จแล้วข้าพเจ้ามานั่งตรงต่อที่ท่านนั่ง
ท่านจึงได้เทศนาให้ข้าพเจ้าฟังว่า “คนเราเกิดมาทุกรูปทุกนามรูปสังขารเป็นของไม่เที่ยง
เกิดขึ้นแล้วล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าพระราชา มหากษัตริย์
พระยานาหมื่น คนมั่งมี เศรษฐีและยาจก ล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
มีทางพอจะหลุดพ้นทุกข์ได้ คือ ทำความเพียร เจริญภาวนา
อย่าสิมัวเมาในรูปสังขารของตน มัจจุราชมันบ่ไว้หน้าผู้ใด ก่อนจะดับไป
ควรจะสร้างความดีเอาไว้” ท่านเทศนาใจความสั้นๆ ดังนี้แล้ว
จึงได้สนทนากับท่านต่อไปอีก
ได้เรียนถานท่านว่า
ช่างทำฟันมาแต่ฟันให้แล้วรู้สึกเป็นอย่างไร ท่านได้ตอบว่า “หายเจ็บแล้ว คือสิได้คุณดี” ข้าพเจ้าเรียนถามต่อไปอีกว่า
ท่านอาจารย์ฉันยาที่นำมาถวายแล้วเป็นอย่างไร
(ยาที่นำมาถวายท่านนี้เอามาจากสูตรผสมยาของคุณหมออวย ปรุงถวายท่านอาจารย์ใหญ่ขาว
วัดถ้ำกลองเพล) ท่านได้ตอบว่า “ยานี้ได้คุณดี
แต่ว่าเวลานี้มัจจุราชมันบ่ได้ว่ายาให้แล้ว” เมื่อท่านพูดเช่นนั้นข้าพเจ้ารู้สึกตกใจ
จึงได้อาราธนานิมนต์ท่านอยู่ต่อไปว่า
กระผมขอนิมนต์ให้หลวงปู่อยู่ไปก่อนถึงอย่างไรก็ขอให้เจดีย์ที่กำลังก่อสร้างนี้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน
ท่านได้ตอบข้าพเจ้าว่า “ชายเจ้ามาโง่แท้
เทศนาให้ฟังหยกๆ ยังไม่เข้าใจ”
ได้เวลา
๑๕.๓๐ น. ท่านได้สั่งให้ข้าพเจ้ากลับเพราะจะค่ำแล้ว ข้าพเจ้าไม่รอช้า
เพราะทราบดีว่าเมื่อท่านสั่งต้องปฏิบัติตาม ก่อนจะกลับก็กราบมนัสการท่าน
ขณะที่กำลังกราบมนัสการท่านอยู่นั้น ท่านยังได้ย้ำอีกว่า “ให้พากันเจริญภาวนาทำความเพียรจึงจะพ้นทุกข์”
จากนั้นท่านก็ไปทำกิจของท่าน คือเดินจงกรมบนกุฎีของท่าน
ตลอดทางที่กลับบ้าน
ข้าพเจ้าคิดในใจถึงปรากฏการณ์ที่ท่านอาจารย์หลวงปู่เฒ่าของเรานี้ผิดแปลกไปกว่าครั้งก่อนๆ
มาก เมื่อถึงบ้านก็ได้แต่เพียงปรึกษากับภรรยาเท่านั้น
ตั้งใจไว้ว่าจำต้องนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับท่านอาจารย์ลีและอาจารย์สุภาพดู
แต่เรื่องยังไม่ถึงท่านอาจารย์ทั้งสอง
เหตุการณ์อันไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในตอนเช้ามืด วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๒
มีคนบ้านดงเย็นมาส่งข่าวว่า ท่านอาจารย์ใหญ่พรหม จิรปุญโญ อาพาธหนัก ข้าพเจ้าไม่ได้รอช้า
รีบเขียนใบลาให้ครูในโรงเรียนส่งไปทางอำเภอ
ข้าพเจ้าจึงได้ชักชวนแพทย์ประจำตำบลโพนสูง คือ นายสุนทร ราชหงษ์ ไปด้วย
ถึงบ้านดงเย็นก็รีบพากันกราบมนัสการท่าน
ปรากฏว่าตอนนั้นท่านมีอาการสงบ
นอนนิ่งเช่นกับคนนอนหลับธรรมดา อนามัยตำบลดงเย็น และนายสุนทร ราชหงษ์ เอาปรอทวัด
และให้น้ำเกลือตลอดเวลา อาการยังไม่ดีขึ้นเลย จนกระทั่งเวลา ๑๓.๓๐ น.
ข้าพเจ้าจึงได้รีบเดินทางเข้าไปยังอำเภอสว่างแดนดินเพื่อปรึกษานายแพทย์
และขอเชิญไปตรวจอาการของท่านอาจารย์ แต่ได้รับคำปฏิเสธ
บอกว่าท่านเป็นโรคชราไม่มีทางแก้ไข ข้าพเจ้าจึงได้ไปร้านขายยาและซื้อยาตามที่อนามัยตำบลสั่ง
จึงกลับบ้านเพื่อรับเอาภรรยาไปด้วย ถึงบ้านดงเย็นเวลา ๑๗.๓๐ น.
ขณะไปถึงวัดประสิทธิธรรม ปรากฏว่ามีพระเณร ชี
และญาติโยมเต็มกุฎีและใต้ถุนกุฎี ข้าพเจ้าจึงรีบขึ้นไปบนกุฎีกราบมนัสการท่าน
พระเณรที่อยู่ข้างซ้ายมือได้หลีกให้ข้าพเจ้าเข้าไปถึงตัวท่าน
ข้าพเจ้าได้จับดูชีพจรข้างซ้าย ปรากฏว่าชีพจรอ่อนมากแทบไม่เดินเลย
จึงกล่าวกับท่านอาจารย์สอนที่เฝ้าอยู่ใกล้ชิดว่า แย่แล้วครับอาจารย์
พวกเราจะทำอย่างไรต่อไป พอพูดขาดคำท่านอาจารย์ก็ลืมตาขึ้น
ตอนนี้ข้าพเจ้าดีใจมากเพราะเข้าใจว่าท่านฟื้นขึ้นมา จึงได้เรียกท่าน
แต่ปรากฏว่าไม่มีเสียงตอบ
แล้วท่านก็หลับตาพร้อมกับประณมมือขึ้นถึงหน้าอกมนัสการพระรัตนตรัย
ชีพจรของท่านก็หยุดเดิน
พระคุณท่านหลวงปู่ที่เคารพสักการะยิ่งของข้าพเจ้าได้มรณภาพด้วยอาการสงบเยือกเย็น
เมื่อเวลา ๑๗.๓๐ น. ของวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๒
เหมือนประทีปดวงใหญ่ที่เคยส่องแสงสว่างหนทางแห่งชีวิตแก่ข้าพเจ้า
หรือเหมือนร่มไม้ใหญ่ที่เคยให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ข้าพเจ้า
บัดนี้ต้นไม้นั้นได้พังทลายไปจากข้าพเจ้าเสียแล้ว จะหาที่ไหนได้อีกในชีวิต
นี้แหละท่านทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ผมได้รับประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ในชีวิตอีกครั้ง
สมกับคำที่ท่านหลวงปู่ที่ล่วงไปเตือนผมไม่กี่วัน
เพื่อให้พวกเราที่ยังลุ่มหลงมัวเมาได้รู้และเตรียมตัวไว้
เพื่อไม่ให้กลัวตายอย่างตัวท่าน นับว่าท่านไม่หวั่นไหวแล้ว
เปรียบเหมือนกุญชรที่ฝึกดีแล้ว ย่อมไม่พรั่นต่อลูกศรที่มาจากทิศต่างๆ
ในเวลาเข้าสู่สงครามฉะนั้น
ดังนั้น
โอวาทของท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า
มัจจุราชไม่เว้นมนุษย์สัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดมาบนพื้นพิภพนี้
มีการแตกดับไปทั้งสิ้น ท่านหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
ท่านเป็นพระเถระที่มั่นคงหนักแน่นในพระธรรมวินัยประพฤติพรตพรหมจรรย์เนกขัมมภิรัต
มีวัตรปฏิบัติอันดีงามตามทางอริยมรรค เป็นวิมุติหลุดพ้น
ถึงแม้สรีระร่างกายจะแตกดับ คุณงามความดีที่ท่านได้ทำไว้เป็นของไม่ตาย
เป็นมรดกตกทอดไว้ให้แก่พวกเราชั่วกาลนานนับว่าเกิดมาไม่เสียที
เพราะท่านได้ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้เต็มเปี่ยมด้วยความไม่ประมาท
ถือว่าได้ทำประโยชน์ทั้ง ๓ คือ
-
อัตตัตถจริยา ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ตน
-
ญาตัตถจริยา ประพฤติให้เป็นประโยชน์หมู่ญาติ
-
โลกัตถจริยา ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทั่วไป
นับว่าเจริญรอยตามยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงความเป็นสาวกในพระธรรมวินัยนี้สมบูรณ์ทุกประการ ฯ
.............................................................
คัดลอกมาจาก
::
หนังสือชีวประวัติของพระอาจารย์พรหม
จิรปุญฺโญ
อดีตเจ้าอาวาสวัดประสิทธิธรรม
จังหวัดอุดรธานี