วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2557

พระเจ้าแตงหวาน

พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์

พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ในกาลปางก่อนนั้น อันพระนครวัดนครธมทั้งสองนี้ มีอยู่ในแว่นแคว้นแดนเขมร สร้างเมื่อครั้งพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๔๐๐ พรรษา พระอินทราธิราชทรงพระสุบินว่า แก้วมณีโชติหลุดจากพระโอฐตกลงไปในเปือกตมในมนุษยโลก พระอินทร์มีความเสียดายนัก จะลงมาเก็บเอาดวงแก้วกลับคืนขึ้นไปก็เกลียดนัก ครั้นตื่นจากพระบรรทมจึงส่องทิพยจักษุพิจารณาดูรู้ว่า แต่บรรดาเทวบุตรทั้ง ๗ องค์ซึ่งเป็นบุตรของพระองค์ จะจุติลงไปในมนุษยโลกแล้ว จะได้บำรุงพระพุทธศาสนาสักองค์หนึ่ง จึงตรัสสั่งให้หาเทวบุตรทั้ง ๗ องค์มาเฝ้า ตรัสเล่าเรื่องความในพระสุบินให้ฟังทุกประการ แล้วจึงตรัสว่า เทวบุตรทั้ง ๗ นี้ผู้ใดจะจุติลงไปเกิดในมนุษยโลกบำรุงพระพุทธศาสนาได้บ้าง เทวบุตรทั้ง ๖ องค์ไม่ยอมจะจุติลงมา แต่เกตุเทวบุตรองค์หนึ่งนั้น รับว่าถ้า เป็นการบำรุงพระพุทธศาสนาแล้ว จะขอรับอาษาจุติลงมาเกิดในมนุษย โลก พระอินทร์ก็มีความยินดีในพระหฤทัย จึ่งพระราชทานให้เกตุเทวบุตรลงมาเกิดในครรภ์นางเทพวดีผู้เป็นอัครมเหษีท้าวโกเมราช อันเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครเขมราชธานี ด้วยอานุภาพบุญญาธิการของพระราชกุมารซึ่งอยู่ในพระครรภ์นั้น แต่บรรดานกทั้งหลายบินข้ามมาบนปราสาทที่พระอัครมเหษีอยู่ครั้งใด ก็ตกลงมาตายเห็นเป็นมหัศ จรรย์นัก พวกอำมาตย์ราชมนตรีผู้ใหญ่ผู้น้อยเห็นดังนั้น จึ่งกราบทูล
พระเจ้าโกเมราชว่า ราษฎรชาวพระนครนี้ เป็นคนอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ ประการ มีแต่ความเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งปวง ถึงว่ามีโทษทัณฑ์กรรมกรณ์ ก็ผันผ่อนหย่อนแก่กัน เอาแต่ความสุข เหตุไฉนพระราชกุมารองค์นี้ ตั้งแต่ปฏิสนธิในพระครรภ์จึ่งให้โทษแก่นกทั้งปวงฉะนี้ พระเจ้าโกเมราชก็พลอยทรงเห็นด้วยกับเสนามนตรีทั้งปวงว่า พระราชกุมารซึ่งอยู่ในพระครรภ์เป็นกาลกินี จึงตรัสสั่งให้เอาพระอัครมเหษีซึ่งทรงครรภ์นั้นไปใส่แพลอยเสีย เสนามาตย์ราชปโรหิตจึ่งทูลทัดทานไว้ว่า ซึ่งจะทำโทษแก่พระอัครมเหษีซึ่งทรงพระครรภ์อยู่นั้นไม่ควร ต่อเมื่อใดประสูติพระราชบุตรแล้ว จึ่งขับเสียจากพระนคร ท้าวโกเมราชจึ่ง ให้งดไว้ ครั้นพระอัครมเหษีประสูติพระราชบุตรแล้ว พระเจ้าโกเมราชก็ขับเสียจากพระนคร พระอัครมเหษีก็พาพระราชบุตรเดินไปได้ความลำบากเวทนา ด้วยเป็นนางกษัตริย์มีแต่ความสุขไม่เคยตกยาก ด้วย เดชบุญญานุภาพของพระราชกุมาร ซึ่งจะได้ครองราชสมบัติในแว่นแคว้นแดนเขมร จึ่งร้อนขึ้นไปถึงพระอินทร์ ๆ ส่องทิพยจักษุดูรู้เหตุแล้ว ก็นฤมิตรเพศเป็นมนุษย์นุ่งห่มผ้าขาวลงมา เดินตามทางพลางย่นมรรคา พาพระราชเทวีกับพระราชกุมารไปได้ ๗ วันถึงดงพระยาไฟ จึ่งนฤมิตรปราสาทให้หยุดพักอาศัยอยู่ แล้วให้เสวยอาหารทิพย์
ลำดับนั้นพระอินทร์จึ่งพาพระราชเทวีกับพระราชกุมาร มาถึงแดนโคกทลอก ไปพักอยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่งข้างทิศใต้ จึ่งให้นางกับพระราชกุมาร อยูในถ้ำแห่งหนึ่งใกล้เมืองพระบาทชันชุม ครั้นพระราชกุมารมีพระชนมายุได้ ๓ ปี มีรูปโฉมอันงามตามวงศ์เทวราช มนุษย์ผู้ใดในมนุษย์โลกนี้ จะมีรูปอันงามเปรียบเหมือนพระราชกุมารนั้นไม่มี พระอินทร์มีความรักใคร่ยิ่งนัก จึ่งนฤมิตรเพศเป็นบุรุษ แกล้งมาเยี่ยมเยือนพระราชเทวีกับพระราชกุมาร พระราชเทวีเห็นก็พูดจาไต่ถามว่า ท่านไปข้างไหนหายไปไม่เห็นมาช้านานแล้ว พระอินทร์จึ่งบอกว่า ข้ากลับไปบ้าน ๆ ข้าอยู่ไกลนัก ข้ารำลึกถึงจึ่งมาหากุมารนี้ข้าจะขอไปเลี้ยงไว้ นางจึ่งว่าท่านมาแล้วหายไป ๒ ปี ๓ ปี ข้าไม่ยอมให้ลูกของข้าไป บุรุษแก่จึ่งว่าครั้งนี้ ข้าจะขอเอาไปชมเล่นสักวันเดียว นางขัดมิได้จึ่งยอมให้แก่บุรุษแก่ ๆ ก็อุ้มพระราชกุมารไป พอลับพระเนตรนางหน่อยหนึ่งก็กลับมาเป็นพระอินทร์ ๆ ก็พาราชกุมารเหาะขึ้นไปดาวดึงส์สวรรค์ พระราชกุมารเห็นเทวสถานพิมานสวรรค์ก็มีความยินดียิ่งนัก เมื่อพระราชกุมารขึ้นไปสู่เทวนครนั้น เทพยดามาเฝ้าพระอินทร์เหม็นกลิ่นมนุษย์ พระอินทร์ก็คิดขวยเขินสะเทินพระหฤทัย จึ่งชวนพระราชกุมารลงมา พระราชกุมารไม่ปรารถนาจะลงมา ร้องไห้รักทิพยพิมานในสวรรค์ พระอินทร์จึ่งว่า ดูกรกุมารเจ้าจงกลับลงไปเมืองมนุษย์เถิด เราจะสร้างเมืองให้อยู่ให้งามดุจเมืองสวรรค์นี้ พระอินทร์ก็พาพระราชกุมารมายังสำนักพระนางซึ่งเป็นพระมารดา
ในวันนั้นแล้วพระอินทร์จึ่งเหยียบศิลาแห่งหนึ่งเป็นรอยพระบาทไว้บนยอดเขา เห็นเป็นรอยปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ เมืองซึ่งอยู่ในริมเขานั้นจึ่งได้ปรากฏนามชื่อว่า เมืองพระบาทชันชุม แล้วพระอินทร์จึ่งส่องทิพยจักษุพิจารณาดูรู้ว่า ในแว่นแคว้นแดนโคกทลอกนี้ เป็นที่ชัยภูมิ สมควรจะสร้างพระนครให้พระราชกุมารอยู่ได้ จึงตรัสใช้ให้พระพิศณุกรรมลงมา สร้างพระนครโคกทลอก เมื่อพระพิศณุกรรมลงมาสร้างพระนครถวาย
ให้พระราชกุมารกับพระมารดาอยู่ ฝ่ายราษฎรที่อยู่ในป่าก็มาอยู่ด้วย พระราชกุมารบ้างแต่ยังน้อยนัก พระอินทร์เห็นว่าราษฎรยังน้อยนัก จะให้ชนชาวเมืองเขมราชธานีมาอยู่อีกให้มาก จึ่งเหาะมานฤมิตรกายเป็นช้างเผือกใหญ่อยู่ณป่าแดนเมืองเขมราชให้พรานป่าเห็นแล้ว ช้างนั้น ก็เดินลัดมาถึงที่ใกล้พระนครโคกทลอก พรานป่าตามมาถึงที่ใกล้พระนครนั้น ช้างเผือกก็หายไป เห็นแต่รอยเท้าปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ พรานป่าได้เห็นพระนครงามนัก จึงเข้าไปพิจารณาดูรู้ว่า พระราชกุมารกับพระอัครมเหษีพระเจ้าโกเมราชที่เป็นเจ้าของตน มาครองสมบัติอยู่ในเมืองนั้น ก็มีความยินดียิ่งนัก พรานป่าก็เร่งรีบกลับมากราบทูลพระเจ้าโกเมราชตามที่ตนได้เห็นทุกประการ พระเจ้าโกเมราชจึ่งให้เสนามนตรี คุมไพร่พล ๕๐๐๐ มาเชิญพระราชกุมารกับพระอัครมเหษี จะให้กลับไปเมืองเขมราช พระราชกุมารกับพระมารดาไม่กลับไป เสนามนตรีกับไพร่พล ๕๐๐๐ ก็อยู่ด้วยกับพระราชกุมารทั้งสิ้น พระเจ้าโกเมราชเห็นหายไปไม่กลับมา จึ่งใช้เสนามนตรีคุมไพร่พลไปอีกหมื่นหนึ่ง เสนามนตรีกับไพร่พลหมื่นหนึ่งนั้น ก็ชวนกันอยู่กับพระราชกุมารไม่กลับไป แต่พระเจ้าโกเมราชให้เสนามนตรีมา จะรับพระราชกุมารไปถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง พระราชกุมารก็ไม่กลับไป ไพร่พลทั้งหลายก็ยอมอยู่กับพระราชกุมารสิ้น พระเจ้าโกเมราชจึงยกพวกพลโยธามาตามเสด็จ มาถึงพระนครโคกทลอก ได้เห็นพระราชกุมารกับพระอัครมเหษี ก็มีพระหฤทัยยินดียิ่งนัก จะชักชวนพระราชกุมารสักเท่าใด ๆ พระราชกุมารก็ไม่กลับไป พระเจ้าโกเมราชจึ่งราชาภิเษกพระราชกุมาร ให้เสวยราชสมบัติอยู่พระนครโคกทลอก
ตั้งพระนามชื่อว่า พระเจ้าเกตุมาลามหากษัตริย์ พระอินทร์ ได้ทรงทราบเหตุนั้น จึงบันดาลพระขรรค์ทิพย์สำหรับกษัตริย์ให้ตก ลงมาตามที่ประชุมเสนาอำมาตยราชบรรษัททั้งปวง ในราชาภิเษก พระเจ้าเกตุมาลา เห็นเป็นมหัศจรรย์นัก พระขรรค์นั้นยังอยู่จนทุก วันนี้ แว่นแคว้นแดนเมืองโคกทลอกนั้นจึ่งได้นามปรากฏชื่อว่า เมือง อินทปัตถมหานคร ฝ่ายเจ้าโกเมราชที่เป็นพระราชบิดา ก็พา พระอัครมเหษีผู้เป็นมารดาพระเจ้าเกตุมาลาเสด็จกลับไปเมืองเขมราช พระเจ้าเกตุมาลาเสวยราชสมบัติสืบมา บรรดาอาณาประชาราษฎรก็อยู่เย็นเป็นสุข กิติศัพท์นั้นก็เลื่องลือไปทุกประเทศ กษัตริย์ทุพระนครนำเอาดอกไม้ทองเงินมาถวาย พระเจ้าเกตุมาลาเสวยราชสมบัติมาช้านานได้หลายปี แต่ไม่มีพระราชบุตรพระราชธิดาที่จะสืบวงศ์กษัตริย์ต่อไป จึ่งทรงพระอุตส่าห์รักษาศีลจำเริญภาวนา ปรารถนาพระราชโอรส ได้ ๗ วัน จึ่งร้อนไปถึงทิพยอาสน์แห่งพระอินทร์ ๆ ส่องทิพยจักษุ ลงมาเห็นว่า พระเจ้าเกตุมาลาทรงพระอุส่าห์รักษาศีล ตั้งพระทัยปรารถนาพระราชบุตร ที่จะสืบตระกูลวงศ์กษัตริย์ต่อไป พระอินทร์ จึ่งเชิญเทวบุตรองค์หนึ่ง ให้จุติลงมาเกิดในดอกประทุมชาติในสระแห่งหนึ่ง แล้วบันดาลให้พระเกตุมาลา พาบริวารเสด็จไปประพาสป่า พบพระกุมารอยู่ในดอกประทุมชาติ เอาเลี้ยงไว้เป็นพระราชบุตรบุญธรรม ครั้นพระราชกุมารเจริญขึ้น พระเจ้าเกตุมาลาตั้งพระนามว่า พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เวลาวันหนึ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เสด็จไปเที่ยว ประพาสป่าจึ่งไปถึงโคกทลอก เหตุมีไม้ทลอกต้นหนึ่งใหญ่นัก ลำต้นเอนไปข้างทิศอาคเนย์ นอนราบถึงพื้นปฐพี ๆ ลึกลงไปเป็นรอยปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แผ่นดินงอกขึ้นสูงประมาณ ๒ วา ถึงค่าคบ แตกกิ่งใบ ตั้งขึ้นเป็นที่ร่มเย็น และไม้ทลอกต้นนี้คำโบราณเล่าสืบกันมาว่า
เมื่อครั้งปฐมกัลป์ ประเทศที่นี้ยังเป็นมหาสมุทรอยู่ พระยานาคชื่อว่าท้าวชมภูปาปะกาศ ไปรับอาษาพระอิศวร เอาขนดตัวพันเข้ากับพระเมรุ์ มิให้เอนเอียงได้ ฝ่ายพระพายขัดใจจึ่งพัดให้เขาพระเมรุ์เอนเอียงไปได้ พระพายเอาพระขรรค์ตัดศีรษะพระยานาคขว้างมาตกลงที่นั้น พระอิศวรทรงพระเมตตานัก จึ่งเอายาทิ้งลงมาสาปสรรว่า ถ้าศีรษะท้าวชมภู ปาปะกาศตกลงมาที่ใด ก็ให้เกิดเป็นโคกและต้นไม้อยู่ในที่นั้น จึงเกิด เป็นโคกมีต้นทลอกใหญ่ต้นหนึ่ง จึ่งได้เรียกว่าโคกทลอก ฝ่ายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เห็นต้นทลอกเอนอยู่ดังนั้น ก็ให้มหาดเล็กเอาพระยี่ภู่ไปลาดบนต้นทลอกนั้น แล้วเสด็จขึ้นไปบรรทม พอเวลาเย็นต้นทลอกนั้นก็ค่อยตรงขึ้นทีละน้อยๆ พระเจ้าสุริยวงศ์บรรทมหลับ ต้นทลอก ก็ตั้งตรงขึ้นดุจมีผู้ยกขึ้น พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จึ่งตื่นจากพระบรรทม ให้หวาดหวั่นพระหฤทัย จึ่งเหนี่ยวกิ่งทลอกไว้ จะเลื่อนพระองค์ลงมา ก็ไม่ได้ เสด็จนั่งอยู่บนค่าคบจนต้นทลอกตรงขึ้นสูงสุด เป็นอัสจรรย์ในพระหฤทัยนัก จะเรียกมหาดเล็กข้าเฝ้าทั้งปวงก็ไม่ได้ยิน ฝ่ายบรรดาไพร่พลเสนาข้าเฝ้าทั้งปวงก็ตกใจ คอยอยู่ใต้ต้นทลอกทั้งสิ้น พอเพลาพระอาทิตย์อุทัย ต้นทลอกนั้นจึ่งเอนลงราบถึงพระธรณีดังเก่า พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จึ่งลงจากต้นทลอกมายังบรรดาข้าเฝ้า ๆ ก็มีความยินดีนัก ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้านางนาคผู้เป็นธิดาพระยานาค ชวนบริวารขึ้นมาเล่นน้ำในทะเลสาบ แล้วว่ายเข้ามาตามลำคลองจนถึงที่ใกล้ต้นทลอก พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เห็นนางนาค ก็พาพวกอำมาตย์ราชเสนาทั้งปวงเข้าล้อมจับ ๆ นางนาคได้แล้ว พามาไว้ที่ต้นทลอก ได้สมัครสังวาสแล้ว ตั้งเป็นพระอัครมเหษี ขณะเมื่อพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จับนางนาคได้นั้น ฝ่ายบริวารนางนาค ก็พากันหนีกลับไปเเจ้งความแก่พระยานาคผู้บิดา ๆ จึ่งให้หาพระราชบุตรซึ่งเป็นน้องนางนาค ให้เกณฑ์พวกพลนาคขึ้น มาตามพบกับพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ได้รบกัน แพ้พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ๆ จับได้จะฆ่าเสีย นางนาคผู้เป็นอัครมเหษีจึ่งทูลขอชีวิตไว้แล้ว พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ก็ปล่อยให้กลับคืนไปเมืองนาค นาคกุมารจึ่งแจ้งความแก่พระยานาคผู้เป็นพระบิดาทุกประการ พระยานาคก็คิดว่า บุตรหญิงเราเขาก็จับได้ไปเลี้ยงเป็นภรรยา ครั้นให้บุตรชายไปติดตามได้ รบกันแพ้เขาๆ จับได้ก็ไม่ได้ฆ่าแล้วปล่อยมา คุณของเขามีแก่เรา เป็นอันมาก จึ่งจัดเครื่องราชบรรณาการ ให้บริวารนำขึ้นมาถวาย พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ให้เชิญพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กับพระราชธิดาลงไปเมืองนาค พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กับนางนาคผู้เป็นพระอัครมเหษี ก็ลงไปอยู่เมืองนาคประมาณกึ่งเดือน พระยานาคจึ่งตรัสแก่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ว่า ท่านเป็นมนุษย์จะมาอยู่ในเมืองนาคไม่สมควร จงกลับขึ้นไปเมืองมนุษย์ เห็นภูมิถานที่ใดควรจะสร้างพระนครได้ก็ให้ลงมาบอกข้าพเจ้า ๆ จะขึ้นไปช่วยสร้างให้ พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ก็ลาพระยานาคพานางนาคขึ้นมาอยู่ที่ต้นทลอก แล้วพานางนาคไปเฝ้าพระเจ้าเกตุมาลา ผู้เป็นพระบิดาเลี้ยง ทูลเล่าเรื่องความถวายทุกประการ
พระเจ้าเกตุ มาลามีพระหฤทัยยินดีนัก จึ่งให้พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กับอำมาตย์ราชเสนาไปเที่ยวดูที่ภูมิสถานสมควรจะสร้างพระนครได้พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ก็เห็นว่า โคกที่ต้นทลอกตั้งอยู่นั้น ควรจะสร้างพระนครอันใหญ่ได้ แล้วพากันกราบทูลพระเจ้าเกตุมาลา ๆ จึงให้พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กับ นางนาคลงไปทูลแก่พระยานาค ๆ ก็พาพวกพลนาคขึ้นมาสร้างพระนครอันใหญ่ถวายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์อยู่ให้ชื่อว่านครธม
พระเจ้าเกตุมาลา ก็ราชาภิเษก พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ขึ้นทรงราชย์อยู่ในนครธมอันใหญ่ ครั้นนานมาพระเจ้าเกตุมาลาก็ถึงแก่พิราลัย พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ก็ถวายพระนครที่พระเจ้าเกตุมาลาผู้เป็นพระบิดาเลี้ยงเสด็จอยู่นั้นเป็นพระอาราม นิมนต์ให้พระพุทธโฆษาจารย์อยู่ เมื่อพระพุทธโฆษาจารย์กลับเข้ามาแต่ลังกาทวีป เพราะเหตุที่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ทรงพระราชอุทิศถวายเมืองโคกทลอกเป็นวัด จึ่งได้นามชื่อว่าพระนครวัดตั้งแต่นั้นมา
พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ก็ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่พระยานาคเป็นพระเจ้าพ่อตาทุกปี ครั้งนั้นแต่บรรดากษัตริย์ทุกพระนคร ต้องไปขึ้น แก่พระนครธมอันใหญ่ ด้วยบารมีของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เมือง สุโขทัยไปส่งส่วยน้ำ เมืองตลุงส่งส่วยไหม เมืองละโว้ส่งส่วยปลาแห้ง ส่วนพระยานาคผู้เป็นพระเจ้าพ่อตาถึงแก่พิราลัยแล้ว พระราชบุตรพระยานาคซึ่งเป็นน้องนางนาคนั้น ก็ได้ผ่านพิภพนาคแทนพระบิดา พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ได้ทรงราชย์มาช้านานแล้ว พุทธศักราชล่วงได้ ๑๕๐๑ ปี จึ่งพระร่วงบังเกิดขึ้นในเมืองสุโขทัย ได้เป็นนายกองส่วยน้ำ จึ่งให้สานชะลอมใส่น้ำไปส่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ๆ ได้เห็นชะลอมใส่น้ำมาได้ไม่รั่ว จึ่งตรัสถามว่าผู้ใดเป็นผู้จัดให้เอาชะลอมใส่น้ำมาส่งไม่รั่วได้ดังนี้ พวกไทยซึ่งคุมชะลอมน้ำไปนั้นจึ่งกราบทูลว่า นายร่วงผู้เป็นนายกองว่ากล่าวสิ่งใดศักดิ์สิทธิ์ทุกประการ ให้สานชะลอมใส่น้ำมาถวาย พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จึ่งตรัสว่า เมืองไทยเกิดผู้มีบุญขึ้นแล้ว ตั้งแต่นี้ไปเมืองไทยจะไม่ได้ขึ้นแก่เมืองเขมรแล้ว พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จึ่งว่าแก่ไทยซึ่งเป็นนายคุมน้ำไปถวายว่า อย่ามาส่งน้ำอีกเลย พวกไทยก็พากันกลับมาบอกแก่นายร่วง ขณะนั้นพระยาเดโชดำดินเจ้าเมืองขอมเข้ามาเฝ้า จึ่งตรัสบอกว่าเดี๋ยวนี้มีผู้มีบุญเกิดขึ้นที่เมืองไทย ได้เอาชะลอมใส่น้ำมาส่งแก่เมืองเราเห็นเขาจะไม่ขึ้นแก่เมืองเราแล้ว พระยาเดโชดำดินจึ่งกราบทูลว่า กระหม่อมฉันจะขอรับอาษาไปจับนายร่วงให้จงได้ พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ห้าม ว่า อย่าไปจับเขาเลย พระยาเดโชดำดินไม่ฟัง แล้วก็กราบถวายบังคมลามาจัดกองทัพ เร่งรีบยกมา ตัวพระยาเดโชดำดินนั้นดำมาโผล่แผ่นดินนายร่วงรู้ข่าวว่า เมืองเขมรยกทัพมาจับตัว ก็หนีไปถึงแดนเมือง พิจิตร ไปอาศัยอยู่ริมวัด จึ่งขอข้าวปลาอาหารชาวบ้านนั้นกิน ชาวบ้านก็ให้อาหารกับปลาหมอกิน ครั้นนายร่วงกินเนื้อเสียแล้วยังแต่ก้างจึ่ง ทิ้งลงในน้ำ ก้างปลานั้นก็กลับเป็นขึ้นว่ายน้ำอยู่ พระยาเดโชดำดิน ครั้นดำดินไปถึงบ้านที่นายร่วงอยู่ก็ผุดขึ้นถามชาวบ้าน ๆ บอกว่านายร่วงหนีไปอยู่บ้านอื่นแล้ว พระยาเดโชดำดินก็ดำดินติตามไป ครั้นนายร่วงรู้ก็หนีไปอาศัยอยู่ณวัดเมืองสุโขทัย ให้เจ้าอธิการบวชให้เป็นภิกษุ
ครั้นเพลาวันหนึ่ง พระร่วงลงมากวาดลานวัด พระยาเดโชดำดินก็ผุดขึ้นที่ใกล้พระร่วงซึ่งยืนอยู่นั้น แต่ไม่รู้จักตัวพระร่วง จึ่งถามว่า พระร่วงอยู่ที่ไหน พระร่วงจึ่งว่า อยู่ที่นี่ก่อนเทอญ เราจะไปบอกพระร่วงให้ พระยาเดโชดำดินก็ผุดขึ้นมาได้ครึ่งกายติดอยู่ไปไม่ได้ ครั้นนานมา รูปกายพระยาเดโชดำดิน ก็กลายเป็นศิลาไป จึ่งเรียกว่าขอมดำดิน ตั้งแต่ครั้งนั้นมา
พระพุทธศักราชได้ ๑๕๐๒ พระเจ้าสุโขทัยถึงแก่พิราลัย ไม่มีพระราชวงศานุวงศ์ที่จะครองราชสมบัติสืบไป เสนาบดีจึงไปอัญเชิญพระร่วง มาครองเมืองสุโขทัย พระร่วงจึ่งทรงพระดำริว่า พระเจ้าปทุม สุริยวงศ์ตรัสว่าไม่ให้เอาน้ำไปส่งแล้ว เหตุใดจึ่งให้พระยาเดโชดำดินมาจับเราเล่า เราจะยกกองทัพไปจับพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์บ้าง จึ่งตรัส สั่งให้เกณฑ์พวกพลโยธาเป็นอันมาก ยกจากเมืองสุโขทัยไปถึงเมืองเสียมราบจนถึงพระนครธม พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ทรงทราบจึ่งตรัสสั่งว่า ให้พระร่วงมาเปิดประตูพระนครเทอญ พระเจ้าร่วงจึ่งยกพลไปเปิดประตูเมืองไม่ได้ พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เห็นว่า พระเจ้าร่วงเปิดประตูเมืองไม่ได้ แล้วจึ่งตรัสว่า เราจะให้ประตูเปิดเอง ให้พระเจ้าร่วงเข้ามาเฝ้าเราให้จงได้ พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ตรัสดังนั้นแล้วจึ่งตรัสว่า ประตูเปิดเสีย ให้พระยาร่วงเข้ามาเฝ้าเรา ประตูก็เปิดออกในทันใดนั้น พระเจ้าร่วงกับพวกพลไทยทั้งปวง กลัวพระเดชานุภาพกราบถวายบังคมชมพระบารมีพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ตั้งแต่พระนครธมนครวัดจนถึงเมืองเสียมราบ จึ่งได้ชื่อว่า เสียมราบแต่นั้นมา เมื่อพระเจ้าร่วงได้เฝ้า แล้วทรงนับถือเป็นอันมาก พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ก็พระราชทานทรัพย์สิ่งของทองเงินโภชนาหารให้พระเจ้าร่วง และไพร่พลทั้งปวงกินอยู่ ผาสุกยิ่งนัก เมื่อพระยาร่วงทูลลากลับมา พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ให้ เอาทรัพย์สิ่งของทองเงินในท้องพระคลังออกมาพระราชทานให้พระเจ้าร่วง และขุนนางกับไพร่ทั้งปวง เอามาตามปรารถนาทุกคน ทรัพย์ในท้องพระคลังก็ไม่พร่อง พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์มีบุญญาธิการยิ่งนัก พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์มีพระราชบุตรด้วยพระสนมองค์หนึ่ง ทรงพระนามชื่อว่าพระเจ้ากรุงพาล
พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ทรงราชย์มาช้านาน ท้าวพระยายอมถวายดอกไม้ทองเงินอยู่เนืองนิจ พระชนมายุได้ ๑๐๐ ปี เศษ ทรงพระชราถึงแก่พิราลัย กรุงไทยก็มิได้ ส่วยน้ำ ส่วยปลาแต่นั้นมา พระเจ้ากรุงพาลที่เป็นพระราชบุตร ก็ได้ทรงราชย์สืบกษัตริย์สุริยวงศ์ ต่อลงมา แต่พระเจ้ากรุงพาลองค์นี้ ไม่ได้เอาส่วยไปส่งแก่พระยานาค ๆ ไม่เห็นชาวเมืองเขมรเอาส่วยมาส่งช้านานแล้ว จึ่งให้นาคที่เป็นเสนามนตรีมาตักเตือน ให้เอาส่วยไปส่ง พระเจ้ากรุงพาลก็มิยอมเอาส่วยไปส่ง ว่าแต่ก่อนนั้น บิดาของพระยานาคองค์นี้ เป็นพระเจ้าพ่อตาของพระราชบิดาเรา ได้มีคุณแก่กันเป็นอันมาก กรุงเขมรจึ่งได้เอาส่วยไปส่งแก่เมืองนาค เดี๋ยวนี้เรากับพระยานาคก็มิได้มีคุณสิ่งใดแก่กัน เราจะให้เอาส่วยไปส่งต้องการอะไร นาคซึ่งเป็นเสนามนตรีก็กลับลงไปทูลความแก่ พระยานาค ๆ ได้ฟังก็โกรธ จึ่งยกพวกพลโยธาขึ้นมาถึงอินทปัตถมหานคร จึ่งให้นาคกุมารเข้าไปต่อว่า ว่าเหตุใดไม่เอาส่วยไปส่ง พระเจ้ากรุงพาลจึ่งว่าแก่นาคกุมารเหมือนอย่างว่าแก่นาคเสนา เมื่อพระยานาคให้มาต่อว่าครั้งก่อนนั้น นาคกุมารจึ่งกลับไปทูลความแก่พระยานาค ๆ โกรธ จึ่งยกพลเข้ารบเอาพระนคร พระเจ้ากรุงพาลจึ่งออกต่อรบด้วยพระยานาค ๆ ปราชัย
พระเจ้ากรุงพาลจับได้ ตัดศีรษะพระยานาค โลหิตพระยานาคก็กระเด็นไปต้องพระองค์พระเจ้ากรุงพาล ฝ่ายบริวารพระยานาคก็พากันกลับไปยังเมืองนาค ครั้นอยู่มาพระเจ้ากรุงพาลเกิดโรคเรื้อนทั่วทั้งพระกาย เพราะโลหิตของพระยานาคต้องพระองค์ พระเจ้ากรุงพาลให้แพทย์รักษาก็ ไม่หาย ยังมีพระฤษีองค์หนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ บอกฤษีผู้บริวารของตนว่า ข้าจะไปเที่ยวเล่นที่เมืองอินทปัตถสัก ๓ เดือนจะกลับมา พระฤษี องค์นั้นก็เหาะมา บัดเดี๋ยวหนึ่งก็ถึงเมืองอินทปัตถมหานคร เห็นบุรุษชรานุ่งผ้าขาวจึ่งถามว่า เมืองนี้เรียกเมืองอะไร บุรุษชรานุ่งผ้าขาว จึ่งบอกว่า เมืองอินทปัตถมหานคร พระฤษีจึ่งว่า เมืองนี้สนุกนักหนา แต่กษัตริย์ซึ่งครองราชสมบัตินั้นเป็นโรคเรื้อน พระชนมายุนั้นน้อยไม่ สมควรที่จะครองพระนครอยู่ได้ เราจะชุบให้กษัตริย์องค์นี้มีชนมายุยืนยาวไปนาน ให้ได้เสวยราชสมบัติสมควรแก่พระนคร บุรุษชรานุ่งผ้าขาว ไปกราบทูลต่อพระเจ้ากรุงพาลว่า มีฤษีองค์หนึ่งมาว่าจะชุบชีวิตพระองค์ ให้หายโรคมีพระชนมายุยืน พระเจ้ากรุงพาลจึ่งตรัสสั่งให้นิมนต์พระ ฤษีเข้าไปในพระราชวัง ตรัสสั่งให้ไปเอากะทะเหล็กใหญ่มาตั้งขึ้นบนเตา ติดไฟใส่น้ำเคี่ยวให้เดือด แล้วพระฤษีจึ่งว่า เชิญมหาบพิตรพระราชสมภารลงไปอยู่ในกะทะเทอญ พระเจ้ากรุงพาลจึ่งตรัสว่า จะทำประการใดจึ่งจะให้เห็นปรากฏแก่จักษุทั้งปวง อำมาตย์ผู้หนึ่งจึ่งจับสุนัขใส่ลงในกะทะ สุนัขนั้นก็ตาย พระฤษีจึ่งเอายาโรยลงไปในกะทะ สุนัขก็เป็น ขึ้น มีรูปกายงามกว่าแต่ก่อน พระเจ้ากรุงพาลก็ยังไม่เชื่อลงเป็นแท้ จึ่งตรัสสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งลงไปในกะทะนั้น พระฤษีจึ่งเอายาโรยลงอำมาตย์นั้นก็เป็นขึ้น รูปงามดุจเทวดา พระเจ้ากรุงพาลก็ยังไม่เชื่อ พระเจ้ากรุงพาลจึ่งตรัสว่า นิมนต์พระมหาฤษีลงในกะทะก่อนเทอญ ข้าพเจ้าจึ่งจะเชื่อ พระมหาฤษีก็เปลื้องเครื่องบริขารออกจากกาย จึ่งสั่งไว้ว่า ถ้าอาตมาภาพลงไปในกะทะแล้ว จงเอายี้โรยลงไปในกะทะ พระมหาฤษีสั่งเสร็จแล้วก็ส่งห่อยาให้แก่พระเจ้ากรุงพาล แล้วก็ลงไปในกะทะ กายพระฤษีนั้นก็ละลายเป็นน้ำ พระเจ้ากรุงพาลก็เอายาโรยลงในกะทะครึ่งหนึ่ง จึ่งบังเกิดเป็นมือเป็นเท้าขึ้น พระเจ้ากรุงพาลก็ไม่เอายาโรยลงไปอีกให้สิ้น พระเจ้ากรุงพาลจึ่งสั่งให้อำมาตย์หามเอากะทะไปเทเสียที่ริมเชิงเขาอยู่ทิศใต้พระนคร
ช้านานได้ ๓ เดือน พระมหาฤษีผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ไม่เห็นพระฤษีที่มาชุบพระเจ้ากรุงพาลนั้น จึ่งถามฤษีที่เป็นบริวารทั้ง ๕๐๐ ว่า พระผู้เป็นเจ้าของท่านทั้งปวงนี้ไปข้างไหน พระฤษี ที่เป็นบริวารจึ่งแจ้งความว่า พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าไปเมืองอินทปัตถ มหานคร จึ่งพระมหาฤษีเป็นครูผู้ใหญ่เหาะมาถึงเมืองอินทปัตถมหานคร จึ่งถามชาวเมืองทั้งหลายว่า ท่านได้เห็นฤษีองค์หนึ่งมาเมืองนี้บ้างหรือไม่ชาวเมืองจึงบอกว่า ได้เห็นอยู่แต่ฤษีองค์นั้นมาว่าจะชุบพระมหากษัตริย์ขึ้นให้หายโรคให้รูปงามให้พระชนมายุยืนยาวไปนาน พระมหากษัตริย์ไม่เชื่อ จึ่งให้พระฤษีนั้นลงไปในกะทะก่อน ฤษีนั้นจึ่งสั่งว่า เมื่ออาตมาภาพลงไปในกะทะแล้ว จงเอายาโรยลงไปในกะทะ พระมหากษัตริย์เอา ยาโรยลงไปก็ไม่เป็นขึ้น พระมหากษัตริย์จึ่งให้อำมาตย์เอากะทะนั้นไปเทเสียที่ภูเขาข้างทิศใต้พระนคร พระฤษีที่เป็นอาจารย์รู้ดั่งนั้นแล้ว จึ่งไปตามที่ภูเขานั้น ได้เห็นศพฤษีผู้ตายนั้น พระฤษีผู้เป็นอาจารย์จึ่งชุบขึ้น แล้วถามว่าเหตุใดท่านจึ่งมาตายอยู่ที่นี้ พระฤษีนั้นจึ่งบอกว่า ข้าพเจ้ามาหวังจะชุบให้กษัตริย์นั้นมีรูปงามและอายุยืน กษัตริย์ก็ไม่เชื่อ จึ่งให้จับเอาสุนัขมาใส่ลงในกะทะแล้ว ข้าพเจ้าก็เอายาโรยลงไปก็เป็นขึ้น แล้วกษัตริย์นั้นก็ยังไม่เชื่อ แล้วตรัสบังคับให้อำมาตย์คนหนึ่งลงไปใน กะทะอีก ข้าพเจ้าก็เอายาโรยลงไปก็เป็นขึ้น รูปก็งามยิ่งกว่าแต่ก่อน แต่กษัตริย์นั้นยังไม่เชื่อ จึ่งให้ข้าพเจ้าลงไปในกะทะ เมื่อข้าพเจ้าจะลง ไปในกะทะจึ่งสั่งไว้ว่า ให้เอายาโรยลงไป กษัตริย์นั้นก็ไม่ได้โรยยาตามข้าพเจ้าสั่งไว้ ข้าพเจ้าจึ่งได้ถึงความตายฉะนี้
ฤษีทั้งสองมีความโกรธนัก จึ่งพากันมาเมืองอินทปัตถมหานครที่พระเจ้ากรุงพาลอยู่นั้น ฤษีทั้งสองจึ่งแช่งว่า เรามีจิตต์เมตตาจะชุบท่านขึ้นให้รูปงามให้อายุยืนให้หายโรคท่านกลับมาประทุษร้ายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไปอย่าให้ท่านหายโรคอย่าให้ ท่านครองสมบัติอยู่ช้านานได้ และเมืองอินทปัตถนี้ กษัตริย์องค์ใด ได้ครองราชสมบัติแล้ว อย่าได้อยู่นานได้ ให้เสื่อมสูญเป็นบ้าไป แล้วพระฤษีทั้งสองก็พากันไปป่าหิมพานต์ พระเจ้ากรุงพาลก็เป็นโรคเรื้อนไม่หาย จึ่งพานักสนมบริวารไปรักษาพระองค์ที่ภูเขา ๘ เหลี่ยมแต่ทุกวันนี้เรียกว่า เขากุเลน คำไทยว่า เขาลิ้นจี่ พระเจ้ากรุงพาลรักษาโรคเรื้อนไม่หายก็ถึงแก่พิราลัย รูปกายพระเจ้ากรุงพาลและนางนักสนม ก็กลายเป็นสิลาไปยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นมา กษัตริย์ในแว่นแคว้นแดนเขมร ที่เสวยราชสมบัติในพระนครธมนั้นไม่อยู่นานได้ โดยลำดับมาหลายพระองค์
จนถึงกษัตริย์องค์หนึ่ง เดิมชื่อนายพรมเป็นพ่อค้าโค ได้เสวยราชสมบัติตั้งพระนครอยู่ข้างฟากแม่น้ำในทิศตะวันออกแห่งพระนครธม ก่อกำแพงด้วยศิลาแลงปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ นายพรมได้เสวยราชสมบัติได้ ๒๐ ปีก็ถึงแก่พิราลัย มีพระราชบุตรองค์หนึ่ง ได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมา พระมหากษัตรีย์นั้นไม่มี พระราชบุตร ครั้นนานมาก็ทรงพระชราทรงพระประชวร จึ่งให้โหรทำนาย ๆ ว่าผู้มีบุญมาบังเกิดในครรภ์หญิงเข็ญใจในพระนครนี้ พระมหากษัตริย์จึ่งสั่งให้อำมาตย์ไปจับหญิงเข็ญใจที่มีครรภ์มาฆ่าเสีย โหรจึ่ง ทูลห้ามว่า ที่จะจับหญิงมีครรภ์มาฆ่าเสียให้สิ้นนั้นก็จะเป็นกรรมเวร ไป แต่อาการที่ผู้มีบุญมาบังเกิดในครรภ์หญิงนั้น เป็นคนเข็ญใจเที่ยว เก็บฟืน ถ้าเก็บฟืนได้ เอามัดฟืนขึ้นทูลบนศีรษะเดินมา เมื่อจะหยุดพัก นั้น ก็เอามัดฟืนวางไว้ แล้วเอาผ้าที่รองบนศีรษะนั้นวางบนมัดฟืนรองนั่ง เหตุว่าบุตรที่ในครรภ์นั้นแลเป็นผู้มีบุญ ถ้าเห็นดั่งนั้นแล้วจึ่งฆ่าหญิง เข็ญใจที่มีครรภ์คนนั้นเสียเทอญ พระมหากษัตริย์ได้ทรงฟังโหรกราบทูลดังนั้น จึ่งให้อำมาตย์ไปเที่ยวสอดแนมดู ครั้งนั้นหญิงเข็ญใจพวกหนึ่ง ทูลมัดฟืนมา แต่หญิง ๖ คนนั้นปลงมัดฟืนลงจากศีรษะแล้ว ก็พากันไปเที่ยวนั่งตามร่มไม้ แต่หญิงเข็ญใจมีครรภ์คนหนึ่งนั้น ปลงมัดฟืนแล้วเอาผ้าลาดบนมัดฟืนรองนั่ง พวกอำมาตย์เห็นดังนั้นแล้ว จึ่งจับหญิงนั้นไปถวายพระมหากษัตริย์ ๆ จึ่งตรัสให้เพ็ชฌฆาตเอาไปฆ่าเสียที่ดอนแห่งหนึ่งใกล้วัดพระมหาสังฆราช บัดนี้เรียกว่าดอนพระศรี ส่วนกุมาร อยู่ในครรภ์นั้นก็ประสูติออกมา มีแร้งมากางปีกปิดป้องรักษากุมารนั้นไว้จะไม่ให้ถูกแดดและลม ส่วนตาเคเหซึ่งเป็นผู้เลี้ยงโคของพระมหาสังฆราชนั้น ไล่ฝูงโคไปเลี้ยงที่ใกล้ศพมารดากุมารนั้น เห็นฝูงแร้งพากันกางปีกป้องปิดอยู่ ก็มีความสงสัย จึ่งเข้าไปดู เห็นกุมารมีรูปอันงาม ก็อุ้มเอามาถวายแก่พระสังฆราช ๆ ก็รู้ว่า กุมารคนนี้จะมีบุญมาก แต่พระมหากษัตริย์ให้เอามาฆ่าแล้วยังไม่ตาย จึ่งมอบให้ตาเคเหเอาไปเลี้ยงไว้ จนอายุกุมารนั้นได้ ๖ ขวบ ๗ ขวบ ครั้นอยู่มาพระมหากษัตริย์ ก็ทรงพระประชวรอีก จึ่งให้โหรทำนาย ๆ ว่าผู้มีบุญนั้นยังไม่ตาย มี ผู้เอาไปเลี้ยงไว้ อยู่ข้างทิศตะวันออกแห่งเมืองพนมเพ็ญ พระมหากษัตริย์จึ่งให้อำมาตย์ไปจับตัว ส่วนพระมหาสังฆราชกับตาเคเหรู้ความนั้นแล้ว พระมหาสังฆราชจึ่งให้ตาเคเหพากุมารนั้นหนีไป ฝ่ายอำมาตย์ก็ติดตามไป ตาเคเหจวนตัวจึ่งพากุมารเข้าซ่อนอยู่ในบึงแห่งหนึ่ง เดี๋ยวนี้เรียกว่า โคกบันชัน เมื่อจะเข้าไปนั้น ตาเคเหทำเป็นทีเดินถอยหลังเข้าไป หวังจะให้คนทั้งปวงเห็นว่าหนีจากโคกนั้นแล้ว ฝ่ายอำมาตย์ก็ติดตามไปถึงโคกนั้นแล้วก็ไม่เห็น จึ่งขับช้างเข้าบุกตามหญ้า รกนั้น แต่ที่กุมารอยู่นั้นมีช้างพังช้างหนึ่ง ไปยืนค่อมพระกุมารอยู่ ทำอาการเหยียบย่ำดุจช้างทั้งปวง ไม่ให้คนทั้งปวงสงสัย อำมาตย์ ราชเสนาเที่ยวหาไม่เห็นแล้ว ก็พาไพร่พลกลับมาทูลพระมหากษัตริย์ ฝ่ายตาเคเหครั้นเห็นคนทั้งปวงกลับไปแล้ว จึ่งพาพระกุมารออกจากบึง ไปพักอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ชื่อไพรทับ ฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้โหรทำนาย ๆ ว่า บัดนี้ผู้มีบุญหนีไปอยู่ในป่าแห่งหนึ่งข้างทิศใต้ พระมหากษัตริย์สั่งให้เสนาอำมาตย์ยกทัพไปติดตาม ตาเคเหเห็นจึ่งพาพระกุมารหนีไปพักอยู่ที่ป่าไพรปวน ออกจากป่าไพรปวนไปพักอยู่ที่เขาประสิทธิ์ข้างทิศหรดีเมื่อจะเข้าไปในถ้ำนั้น ตาเคเหอุ้มพระกุมารเดินถอยหลังเข้าไปในถ้ำนั้น แล้วแมลงมุมก็ชักใยปิดปากถ้ำเสียหวังจะไม่ให้คนสงสัยว่า ตาคาเหพากุมารเข้าไปในถ้ำนั้น ฝ่ายอำมาตย์ก็พาไพร่พลกลับมาทูลพระมหากษัตริย์ ๆ ก็นิ่งอยู่ ตาเคเหก็พาพระกุมารข้ามแม่น้ำพนมเพ็ญ ไปที่ ดอนแห่งหนึ่งข้างทิศตะวันออก พระกุมารจึ่งหักเอากิ่งไทรปักไว้แล้ว จึ่งอธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าจะมีบุญต่อไปภายหน้า ก็ขอให้กิ่งไทรนี้เป็นขึ้น จำเริญโตใหญ่ไปในเบื้องหน้า ต้นไทรนั้นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
ครั้น อนิษฐานแล้วพระกุมารก็บรรทมหลับอยู่บนตักตาเคเหหน่อยหนึ่ง ตา เคเหเห็นนกกระทุงกินปลาอยู่ในหนองเป็นอันมาก ตาเคเหสำคัญว่า กอง ทัพยกมาตามจับ ตาเคเหจึ่งปลุกพระกุมารขึ้นบอกว่า กองทัพยกตามมา ก็พากันหนีไปถึงต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ตาเคเหจึ่งขึ้นไปบนต้นมะม่วงสวายสอแลดูไม่เป็นกองทัพ เห็นแต่ฝูงนกกะทุงลงกินปลาอยู่ในหนอง ก็ดีใจ จึ่งเก็บผลมะม่วงมาให้แก่พระกุมาร จึ่งบอกพระกุมารว่าไม่ใช่กองทัพ พระกุมารก็คิดแต่ในใจว่า ตาเคเหลวงเราให้ตกใจ ถ้าเรามีบุญได้เป็นกษัตริย์จะต้องว่ากล่าวสั่งสอนเสียบ้าง แล้วพระกุมารก็กินมะม่วงตาเคเห ได้รับพระราชทานมีโอชารศยิ่งนัก ตาเคเหก็เก็บเมล็ดมะม่วงสวายสอนั้นมาด้วย ก็พากันมาถึงที่บ้านตำบลหนึ่ง กุมารอดอาหารหิวโหยนัก ได้เห็นหญิงขาวผู้หนึ่งไปยืนอยู่ที่หน้าบ้าน กุมารจึ่งว่า ตาไปขอข้าวหญิงขาวที่ยืนอยู่นั้นมากินสักหน่อยเทอญ ตาเคเหก็ไปขอข้าวแก่หญิงที่ยืนอยู่นั้น ๆ จึ่งถามว่าตามาแต่ข้างไหน ตาเคเหจึ่งบอกความตามเหตุที่ตนมากับพระกุมาร หญิงขาวก็ให้ไปรับพระกุมารเข้า มาแต่งโภชนาหารให้กินแล้ว ให้พระกุมารกับตาเคเหอยู่ในบ้านได้ประมาณ ๗ วัน ฝ่ายพระมหากษัตริย์ทรงพระประชวรหนักถึงแก่พิราลัย เสนา พฤกฒามาตราชปโรหิตก็ประชุมพร้อมกัน ให้หาโหรทำนายดูก็รู้ว่าผู้ มีบุญนั้นยังอยู่ จึ่งปรึกษากันเสี่ยงราชรถไป ราชรถก็ตรงไปถึงฝั่ง แม่น้ำก็หยุดอยู่ ฝ่ายอำมาตราชปโรหิตซึ่งตามราชรถไปนั้น ก็ชวนกัน เอาราชรถนั้นข้ามแม่น้ำไปถึงฝั่งฟากข้างโน้น ราชรถตรงไปถึงที่ใกล้พระกุมาร เสนาอำมาตยราชปโรหิตเห็นพระราชกุมารต้องด้วยลักษณะควรจะเป็นพระมหากษัตริย์ครอบครองราชสมบัติ บำรุงอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นศุขได้ ก็ให้ประโคมดุริยางคดนตรีขึ้นพร้อมกัน เชิญเสด็จพระกุมารขึ้นทรงราชรถแห่แหนไปสู่ยังพระนครจัตุรมุขพนมเพ็ญเป็นสมมติกษัตริย์ทรงพระนาม พระเจ้าปักษีจำกรง เพราะเหตุเมื่อนายเพ็ชฌฆาตฆ่าพระมารดา มีนกแร้งมากางปีกปกปิดเฝ้ารักษา พระองค์ไว้นั้น พระเจ้าปักษีจำกรงจึ่งทรงตั้งตาเคเหนั้นเป็นที่เจ้าฟ้า ทลหะเอกอุมนตรี และบ้านที่พระองค์ไปอาศัยหญิงขาวยืนอยู่นั้นให้ตั้งขึ้นไปเมือง เรียกว่าเมืองสีสอเมอ แล้วพระราชทานส่วยสาอากร ในเมืองสีสอเมอ ให้ขึ้นแก่หญิงขาวที่ให้ข้าวแก่พระองค์เสวยนั้น ที่ที่นายเพ็ชฌฆาตฆ่าพระมารดานั้นให้สร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดดอนพระศรี ที่พระองค์ปักต้นไทรไว้นั้น ให้สร้างพระวิหารไว้ให้ชื่อว่า วัดวิหารสวรรค์เมื่อตาเคเหได้เป็นเจ้าฟ้าทละหะนั้น ได้เมล็ดมะม่วงมาแต่ครั้งพาพระกุมารหนีมานั้น เอามาปลูกไว้ในบ้านจนโตใหญ่ได้ ๗ ปีจนมีผล จึ่งเก็บมาถวายพระเจ้าปักษีจำกรง ๆ เสวยมีโอชารส จึ่งตรัสถามเจ้าฟ้าทลหะ ว่าได้ผลมะม่วงมาแต่ไหน เจ้าฟ้าทลหะจึ่งทูลว่า ได้มาแต่ครั้งหนีนก กระทุงนั้น พระเจ้าปักษีจำกรงจึงตรัสว่า เมื่อขณะนั้นข้ามีความโกรธนักด้วยตาลวงข้าให้ตกใจ โทษตาก็มีอยู่ ให้ตาพิเคราะห์ดูโทษจะมีประการใด เจ้าฟ้าทละหะจึ่งทูลว่า โทษข้าพเจ้าก็ถึงที่ตาย ขอพระองค์จงฆ่าข้าพเจ้าเสียอย่าเอาไว้จะเป็นตัวอย่างต่อไป พระเจ้าปักษีจำกรงจึ่งตอบว่าโทษผิดแต่เพียงนี้ ถึงจะผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย เราก็ไม่ฆ่าท่านได้ เจ้าฟ้าทละหะก็ทูลวิงวอนไปจะให้ฆ่าตนให้ได้หลายครั้งว่ากระหม่อมฉันมีความชอบ พระองค์ก็ได้ทรงชุบเลี้ยงยกย่องตั้งแต่งขึ้นให้เป็นขุนนางผู้ใหญ่แล้ว โทษถึงตายก็ให้ฆ่าเสียเทอญ พระเจ้าปักษีจำกรงจึ่งตรัสว่า ถ้าดังนั้นเราจะทำตามถ้อยคำท่าน แล้วก็ตรัสสั่ง เจ้าพนักงานจัดเอาเสื่อไปปูลาดลง แล้วให้เจ้าฟ้าทลหะนอนลงแล้วเอาผ้าคลุมไว้หลายชั้น หวังพระหฤทัยจะให้เป็นเคล็ดไม่ให้ถึงคอเจ้าฟ้าทละหะ ครั้นให้เอาผ้าคลุมแล้ว ก็ทรงเงื้อพระขรรค์ขึ้นแล้วก็ค่อยวางลงตรงคอ เจ้าฟ้าทละหะแต่เบาๆ ขณะเมื่อวางพระขรรค์ลงไปนั้นผ้าก็มิได้ขาด ครั้นเลิกผ้าขึ้นแล้วคอเจ้าฟ้าทละหะนั้นก็ขาดไปถึงแก่ความตาย ควรจะเป็นอัศจรรย์หนักหนา พระเจ้าปักษีทรงมีความอาลัยนัก จึ่งสั่งให้แต่ง การศพเจ้าฟ้าทละหะตามตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ ปลงศพเสร็จแล้ว จึ่ง ตรัสสั่งให้เอาอัฏฐิไปฝังไว้ที่บ้านมุบกำพูล พระมหากษัตริย์ทรงพระ อาลัยในเจ้าฟ้าทลหะนัก จึ่งทรงเลี้ยงบุตรภรรยาเจ้าฟ้าทละหะนั้นเป็นขุนนางสืบไป พระเจ้าปักษีจำกรงเสวยราชสมบัตินานจนถึงพิราลัย
พระราชบุตรทรงราชย์สืบวงศ์ต่อมาหลายพระองค์ จนถึงกษัตริย์องค์หนึ่งเป็นเชื้อวงศ์ของพระเจ้าปักษีจำกรง ได้เสวยราชสมบัติ พระนามนั้นไม่ปรากฏแต่กษัตริย์องค์นั้นประพฤติการทุจจริตไม่ตั้งอยู่ในความยุตติธรรม พาอำมาตย์ไปเที่ยวลักทรัพย์ของราษฏรอยู่เป็นนิจ ยังมีพระฤษีองค์หนึ่งรักษาศีลอยู่ในป่าใกล้พระนครธม แต่ฤษีองค์นั้นถ่ายปัสสาวะลงในกระพังศิลาอยู่เนืองนิจ บุรุษชาวป่าคนหนึ่งเป็นชาติกวยพรรณ เวลาวันหนึ่งพาภรรยากับบุตรหญิงไปเที่ยวขุดเผือกมันในป่าหลงทางไป จะกลับ มาบ้านมิได้ บิดามารดาจึ่งเที่ยวหาน้ำให้บุตรหญิงนั้นกิน จึ่งไปพบ น้ำในกระพังศิลา เป็นน้ำของพระฤษีถ่ายลงไว้แล้วก็กลับไปพา บุตรหญิงให้กินน้ำในกระพังศิลา แล้วพบหนทางพากลับบ้าน บุตรหญิงนั้นก็มีครรภ์ขึ้น บิดามารดามีความสงสัยจึ่งถามบุตรหญิงว่ารักใคร่กับผู้ใดจึ่งมีครรภ์ บุตรหญิงนั้นก็ปฎิเสธว่า ไม่ได้รักใคร่กับผู้ใด ด้วยมิได้เที่ยวไปจากเรือนเลย แต่เมื่อไปเที่ยวป่านั้นได้กินน้ำในกระพังศิลา แต่กลิ่นนั้นเหมือนกลิ่นปัสสาวะ บิดามารดาจึ่งมีความสงสัยว่าเกลือกจะเป็นน้ำปัสสาวะของบุรุษผู้ใดมาถ่ายไว้ บุตรของเราได้กินจึ่ง มีครรภ์ บิดามารดาก็มีความสงสารแก่บุตรหญิง จึ่งปฏิบัติรักษาครรภ์ไว้จนถ้วนทศมาศ ก็คลอดบุตรเป็นชายประกอบด้วยลักษณะอันงาม บิดามารดาก็ช่วยกันเลี้ยงรักษาจนเจริญใหญ่ขึ้นได้ ๗ ปี ก็ไปเที่ยวเล่นกับทารกเพื่อนบ้าน ทารกชาวบ้านจึ่งว่าแก่กุมารนั้นว่าลูกไม่มีบิดา กุมารนั้นมีความน้อยใจนัก จึ่งถามมารดาว่า เขาพากันติเตียนว่าข้านี้ไม่มีบิดา ๆ ข้าอยู่ที่ไหน มารดาจงบอกให้ข้าแจ้งบ้าง มารดาได้ฟังบุตรว่า
ดังนั้นจึ่งเล่าความให้บุตรฟังตั้งแต่ครั้งไปเที่ยวป่า ไปกินน้ำในกระพังศิลา จนมีครรภ์ขึ้นมานั้นทุกประการ กุมารได้ฟังดังนั้นจึ่งว่า ถ้าจะอยู่ไปก็จะมีความอายแก่คนทั้งปวง ข้าจะลามารดาไปเที่ยวหาบิดาให้พบแล้วจึ่งจะกลับมา มารดากับตายายห้ามสักเท่าใดกุมารนั้นก็ไม่ฟัง จึ่งลามารดากับตายายเข้าไปในป่าพบพระฤษี ๆ จึ่งถามว่า กุมารนี้จะไป ข้างไหน กุมารจึ่งบอกว่า ข้าพเจ้าเที่ยวมาตามหาบิดาของข้าพเจ้า ฤษีจึ่งถามว่า บิดาของท่านนั้นชื่อไร รูปพรรณสัณฐานเป็นประการใด เจ้าจึ่งมาตามหาในป่าดังนี้ กุมารจึ่งบอกว่า มารดาข้าพเจ้าบอกว่าออกมาเที่ยวป่าได้กินน้ำในกระพังศิลาจึ่งมีครรภ์ ข้าพเจ้าไม่รู้จักรูปพรรณและนามบิดาข้าพเจ้า จึ่งมาตามหา ฤษีจึ่งว่าแก่กุมารว่า เจ้าจงอยู่ที่นี่เทอญ เจ้านี้คือบุตรของเราแล้ว เราจะได้สั่งสอนให้เจ้าเรียนศิลปศาสตรสำหรับรักษากายไปภายหน้า กุมารนั้นได้ทราบความว่าพระฤษี องค์นั้นเป็นบิดาของตนดังนั้น ก็มีความยินดีนัก กุมารนั้นจึ่งอยู่กับพระฤษีผู้เป็นบิดา ๆ ก็สั่งสอนให้กุมารเรียนศิลปศาสตร กุมารก็อุตสาหะเรียนศิลปศาสตรอยู่ในสำนักพระฤษีได้ ๗ ปี พระฤษีจึ่งเอาเหล็กดีก้อนหนึ่งมาประสิทธิ์เป็นเหล็กกายสิทธิ์ ให้แก่กุมารผู้บุตรรักษาไว้สำหรับป้องกันตัว มิให้มีไพรีทั้งปวงมากระทำร้ายได้ และเหล็กกายสิทธิ์ ก้อนนั้นอาจแก้ซึ่งพิษยาเบื่อเมาให้กลายเป็นดี มีโอชารสหวานดีบริโภคได้แล้วพระฤษีจึงให้กุมารเอาเหล็กกายสิทธ์นั้น กลับมายังสำนักมารดาตายาย ๆ จึ่งให้กุมารนั้นกลับไปหาฤษี ๆ ว่าเราจะไปอยู่ป่าหิมพานต์ แล้ว กุมารก็กราบนมัสการลาพระฤษีกลีบมายังสำนักมารดาตายายแห่งตน
เล่าความให้มารดาตายายฟังทุกประการ มารดาตายายก็มีความยินดีเป็นอันมาก ครั้นอยู่นานมามารดาตายายถึงแก่กรรมแล้ว กุมาร ก็เที่ยวไปอยู่ในป่าแห่งหนึ่งใกล้พระนครธม บุรุษผู้นั้นทำไร่ข้าวโภช ข้าวฟ่างเลี้ยงชีวิต เวลาวันหนึ่งบุรุษนั้นเอาเหล็กกายสิทธิ์หนุนศีรษะ นอนอยู่ แล้วบุรุษนั้นลุกจากที่นอกออกไปดูแลผลไม้ในไร่ของตนซึ่ง ปลูกไว้ ภายหลังมีกาตัวหนึ่งบินไปกินแตงที่อื่นแล้วบินเข้าไปในที่นอนขึ้นจับอยู่บนก้อนเหล็กกายสิทธิ์ แล้วถ่ายอุจจาระเป็นเมล็ดแตงติดอยู่กับก้อนเหล็กกายสิทธิ์นั้นแล้วก็บินไป ฝ่ายบุรุษนั้นกลับมาเห็นเมล็ดแตงติดอยู่กับก้อนเหล็ก ก็เอาไปปลูกไว้ แตงนั้นก็งอกขึ้นจนมีผล บุรุษนั้น เก็บเอามากินมีโอชารสยิ่งนัก เพราะเหตุนั้นจึ่งได้นามชื่อว่า บุรุษ แตงหวาน ฝ่ายพระมหากษัตริย์พาบริวารไปเที่ยวประพาสเล่นในป่า ไปพบบุรุษแตงหวาน ก็พาบริวารเข้าไปเก็บผลแตงของบุรุษนั้น เสวยมี โอชารสหวานนัก จึ่งตรัสสั่งว่า บุรุษแตงหวานนี้จงอุตสาหะรักษาผลแตงหวานไว้ให้เรา อย่าได้ซื้อขายให้ผู้ใด ถ้าและซื้อขายให้ผู้ใดแล้ว เราจะได้ลงโทษท่านถึงสาหัส แล้วพระมหากษัตริย์องค์นั้นก็พาบริวารกลับไปพระนคร
ภายหลังมีบุรุษลี้ยงโคคนหนึ่ง ไปเลี้ยงโคริมไร่ บุรุษแตงหวาน โคนั้นเข้าไปในไร่บุรุษแต่งหวาน ๆ ก็ขับไล่โค โคไม่หนีไป บุรุษแตงหวานมีความโกรธ จึ่งเอาก้อนเหล็กขว้างไปถูกท้องโคทะลุ โคนั้นก็ตาย บุรุษเลี้ยงโคจึ่งต่อว่าแก่บุรุษแตงหวานว่า เหตุใดท่านจึ่ง ฆ่าโคของข้าพเจ้าเสีย บุรุษเลี้ยงโคก็เอาความนั้นมาร้องแก่ตระลาการ ๆจึ่งให้นายนักการมาจะเอาบุรุษแตงหวานนั้นไป บุรุษแตงหวานก็ว่า ไร่แตงนี้พระมหากษัตริย์สั่งไว้ให้ข้าพเจ้าเฝ้าอยู่มิให้เป็นอันตรายได้ เมื่อจะมาเอาตัวข้าพเจ้าไปแล้ว ก็ให้กราบทูลเสียก่อนข้าพเจ้าจึ่งจะไป เสนามนตรีจึงกลับไปกราบทูลต่อพระมหากษัตริย์ ๆ จึ่งตรัสสั่งขุนนางออกไปเอาตัวบุรุษแตงหวาน ๆ เมื่อมานั้น ก็เอาเหล็กก้อนนั้นไปด้วย ครั้นเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ๆ จึ่งตรัสถามว่า เหตุไรจึ่งฆ่าโคของเขาเสีย บุรุษ แตงหวานจึ่งกราบทูลว่า บุรุษผู้เป็นเจ้าของโคปล่อยโคให้เข้าไปในไร่ทั้งฝูงไปเหยียบแตงซึ่งโปรดให้พิทักษ์รักษาไว้ถวาย กระหม่อมฉันกลัวความ ผิดเหลือสติกำลัง ไล่ไม่ฟังจึ่งเอาก้อนเหล็กทิ้งไปถูกโคตัวหนึ่งตาย แล้วแต่จะโปรด พระมหากษัตริย์จึ่งเรียกเอาก้อนเหล็กของบุรุษแตงหวานนั้นไป สั่งให้ช่างเหล็กตีเป็นหอกมอบให้แก่บุรุษแตงหวาน เอากลับคืนไปยังไร่ สำหรับจะได้เป็นเครื่องสาตราวุธป้องกันโจรผู้ร้ายลักแตง แล้วบุรุษแตงหวานกราบถวายบังคมลากลับมาพิทักษ์รักษาแตงอยู่ที่ไร่ในเพลาวันหนึ่งพระมหากษัตริย์นึกคะนองพระหฤทัย จะใคร่ไปลักแตงของบุรุษนั้นลองดู จึ่งพาอำมาตย์ผู้ร่วมพระหฤทัยไปในเพลาราตรี ไปถึงไร่แตงบุรุษแตงหวานเข้า พระมหาษัตริย์ลอดรั้วไร่ของบุรุษ แตงหวานเข้าไปลักแตงของบุรุษแตงหวาน ๆ ตื่นขึ้นสำคัญว่าโจรลอดรั้ว เข้าไปลักของ จึ่งจับได้หอกนั้นพุ่งเข้าไปถูกพระมหากษัตริย์ถึงแก่พิราลัย แล้วชักเอาหอกมาเก็บไว้ไม่ทราบว่าพระมหากษัตริย์ ฝ่ายอำมาตย์คนสนิทซึ่งติดตามเสด็จมา รู้ว่าพระมหากษัตริย์ถึงแก่พิราลัยแล้วก็หนีกลับไปถึงพระนครไม่บอกเล่าแก่ผู้ใด
ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้า เสนาบดีมนตรี ผู้ใหญ่ผู้น้อยพากันขึ้นเฝ้าก็ไม่เห็นพระมหากษัตริย์เสด็จออก ขุนนางทั้งปวงจึ่งได้ไต่ถามนักสนมชาวใน ๆ ต่างคนต่างว่าไม่รู้ไม่เห็นทั้งสิ้น เสนามนตรีทั้งปวงจึ่งพากันไปเที่ยวหาพระมหากษัตริย์ ถึงไร่บุรุษแตงหวาน จึ่งเห็นพระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์อยู่ในรั้วไร่บุรุษแตงหวานนั้น เสนามน ตรีทั้งปวงจึ่งไปซักถามบุรุษแตงหวาน ๆ ว่าไม่รู้ว่าพระมหากษัตริย์ สำคัญ ว่าโจรจึ่งแทง เสนามนตรีทั้งปวงจึ่งปรึกษากันว่า บุรุษแตงหวานไม่มีโทษ จึ่งอัญเชิญพระศพพระมหากษัตริย์ไปสู่พระนคร
ครั้นปลงพระศพเสร็จแล้วจึ่งประชุมเสนาอำมาตย์ราชปโรหิตโหราพฤฒาจารย์ว่า พระมหา กษัตริย์พระองค์นี้ไม่พระราชวงศานุวงศ์ที่จะครองราชสมบัติสืบกษัตริย์ ต่อไปแล้ว พวกเราจงจัดแจงเสี่ยงราชรถไป ถ้าผู้ใดมีบุญญาธิการควร จะครองราชสมบัติ เป็นสมมุติกษัตริย์ปกป้องให้อาณาประชาราษฎร อยู่เย็นเป็นสุขได้ ให้ราชรถตรงไปเกยอยู่ที่ใกล้ผู้นั้นเทอญ ครั้นปรึกษาพร้อมกันแล้วก็ให้ปล่อยราชรถไป ราชรถก็ตรงไปที่บุรุษแตงหวาน อยู่นั้น ฝ่ายเสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิต เห็นบุรุษแตงหวานต้องด้วยลักษณะควรที่จะครองราชสมบัติ เป็นสมมุติกษัตริย์บำรุงราษฏรให้ อยู่เย็นเป็นสุขได้ จึ่งให้ประโคมดุริยางค์ขึ้นพร้อมกัน อัญเชิญบุรุษ แตงหวานขึ้นทรงราชรถกลับเข้าสู่พระนคร ราชาภิเษกเป็นเอกอัครมหากษัตริย์ทรงพระนามพระเจ้าสุริโยพันธุ์ ครอบครองอินทปัตถมหานครและหอกกายสิทธิ์ซึ่งเป็นของพระเจ้าแตงหวานแต่เดิมนั้น ก็ยังปรากฏ
…………………………………………


วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

อานิสงส์คาถาอุณหิสสวิชัย




อุณหิสสะวิชะยะคาถา


.....อัตถิ อุณหิสสะ วิชะโย ธัมโม โลเก อะนุตตะโร
สัพพะสัตตะหิตัตถายะ ตัง ต์วัง คัณหาหิ เทวะเต
ปะริวัชเช ราชะทัณเฑ อะมะนุสเสหิ ปาวะเก
พะยัคเฆ นาเค วิเส ภูเต อะกาละมะระเณนะ วา
สัพพัส์มา มะระณา มุตโต ฐะเปต์วา กาละมาริตัง
ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา
สุทธะสีลัง สะมาทายะ ธัมมัง สุจะริตัง จะเร
ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา
ลิกขิตัง จินติตัง ปูชัง ธาระณัง วาจะนัง คะรุง
ปะเรสัง เทสะนัง สุต์วา ตัสสะ อายุ ปะวัฑฒะตีติ ฯ  


อานิสงส์คาถาอุณหิสสวิชัย


......ในสมัยหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่เหนือพระแท่นศิลาอาสน์ภายใต้ต้นปาริกชาติ ณ ดาวดึงสพิภพ ตรัสพระสัทธรรม เทศนา อภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพุทธมารดา ในกาลครั้งหนึ่งนั้นมีเทพบุตรองค์หนึ่ง นามว่าสุปติฏฐิตา ได้เสวยทิพย์สมบัติอยู่ชั้นดาวดึงส์มาช้านาน ก็อีก 7 วัน จะสิ้นบุญจุติจากดาวดึงส์ ลงไปอุบัติในนรกเสวยทุขเวทนาอยู่ตลอดแสนปี ครั้นสิ้นกรรมในนรกนั้นแล้วก็จะไปบังเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน 7 จำพวก เสวย วิบากกรรมอยู่ 500 ชาติ ทุก ๆ จำพวก

ยังมีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อว่า อากาสจารินี ซึ่งเป็นผู้รู้บุรพกรรมของ สุปติฏฐิตาเทพบุตร อาศัยความคุ้นเคยสนิทสนมกลมเกลียวกันตั้งแต่ครั้งเป็นมนุษย์ เคยได้รักษาอุโบสถศีลด้วยกันในอดีตชาติล่วงมาแล้ว
มองเห็นอกุศลกรรมตามทัน จะสนองผลแก่สหายของตนก็มีจิตปรานีใคร่จะอนุเคราะห์ จึงเข้าไปสู่สำนักของสุปติฏฐิตาเทพบุตร แล้วก็บอกเหตุที่จะสิ้นอายุภายในอันเร็ว ๆ นี้ ตลอดทั้งที่จะไปเกิดในนรก

ครั้นพ้นจากนรกแล้ว จะต้องไปกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานให้ทราบสิ้นทุกประการ ฝ่ายสุปติฏฐิตาเทพบุตร ได้ทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มีความสะดุ้งตกใจกลัว คิดปริวิตก บุพพนิมิต 4 ประการ คือ

- ดอกไม้ทิพย์ร่วงโรย ประการหนึ่ง
- สรีระ ร่างกายมัวหมองไม่ผ่องใส ประการหนึ่ง
- ผ้าทิพย์ภูษา เครื่องทรงเศร้าหมองไม่ผ่องใส ประการหนึ่ง
- ครั้งทรงผ้าสไบเข้าก็ร้อนกระวนกระวายไปประการหนึ่ง


บุพพนิมิตเหล่านี้ก็ปรากฏแก่สุปติฏฐิตาเทพบุตร บุพพนิมิต 4 ประการนี้ ปรากฏแก่เทพบุตรหรือเทพธิดาองค์ใดแล้ว เทพบุตรธิดาองค์นั้น จะต้องจุติจากเทวโลกอย่างแน่นอน

เมื่อ สุปติฏฐิตาเทพบุตร ทราบชัดเจนเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่นิ่งนอนใจใคร่จะหาเครื่องป้องกัน จึงเข้าไปสู่สำนักท้าวอเมรินทราธิราชเจ้า ถวายอภิวาทแล้วกราบทูลเหตุการณ์ให้ทรงทราบ แล้วทูลอ้อนวอนขอชีวิตในสำนักอมรินทร์ โดยอเนกปริยายท้าวเธอตรัสตอบว่า ชื่อว่าความตายนี้เราเห็นผู้ใหญ่ในสรวงสวรรค์ ก็ไม่อาจห้ามบุพพกรรมอันมีกรรมแรงนี้ได้ เราเห็นอยู่แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั่ว 3 ภพ พระองค์เสด็จประทับอยู่ใต้ต้นปาริกชาติ มาเราจะพาเข้าเฝ้ากราบทูลอาราธนา ให้พระองค์ทรงช่วยเหลือ

สุปติฏฐิตาเทพบุตร ถือเครื่องสักการบูชาตามเสด็จท้าวอมรินทราธิราช เข้าสำนักพระมหามุนีนาถพระศาสดาจารย์แล้ว กราบทูลเหตุการณ์เหล่านั้น ให้พระองค์ทรงทราบโดยสิ้นเชิง แล้วพระองค์ทรงแสดงบุพพกรรมของ สุปติฏฐิตาเทพบุตร องค์นี้เกิดเป็นมนุษย์มีความเห็นผิด เป็นผู้ประมาทตั้งอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ เป็นพรานฆ่าเนื้อเบื่อปลา เป็นผู้มีใจแข็งกระด้าง ตบตีบิดามารดาต่อสมณชีพราหมณ์ ไม่ลุกรับนิมนต์ให้อาสนะที่นั่งภิกษุสงฆ์ผู้เข้าไปสู่สำนัก แม้เห็นแล้วก็ทำเป็นไม่เห็นเสีย

ด้วยวิบากผลอกุศลกรรมอันนี้ตามทันเข้า สุปติฏฐิตาเทพบุตรจึงได้ไปเกิดในนรกตลอดแสนปี ครั้นพ้นจากนรกขึ้นมาก็จะไปกำเนิดแห่งสัตว์ 7 จำพวก คือเป็นแร้ง เป็นรุ้ง เป็นกา เป็นเต่า เป็นหนู เป็นสุนัข และเป็นคนหูหนวกตาบอดอย่างละ 500 ชาติ ด้วยอำนาจอกุศลกรรมนั้นแหละ ขอมหาบพิตรจงทราบด้วยประการฉะนี้

เมื่อท้าวอมรินทร์ทรงทราบแล้ว ก็มีความเมตตาสงสารแก่สุปติฏฐิตาเทพบุตร ยิ่งนัก จึงกราบทูลให้พระองค์ทรงแสดงพระสัจธรรมเทศนาอันจะเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลก ช่วยชีวิตเทพบุตรองค์นี้ไว้ไม่ให้ตายลงภายใน 7 วันนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสเทศนาคาถาอุณหิสสวิชัย มีใจความดังต่อไปนี้

......อตฺถิ อุณฺหิสฺสวิชโย ธมฺโม โลเก อนุตฺตโร สพฺพสตฺตหิตตฺถาย ตํ ตฺวํ คณฺหาหิ เทวเต ปริวชฺเช ราชทณฺเฑ อมนุสฺเสหิ ปาวเก พยคฺเฆ นาเค วิเสภูเต อกาลเรเณน วา สพฺพสฺมา มรณา มุตฺโต ฐเปตุวา กาลมาริตํ ตสฺเสว อานุภาเวน โหตุ เทโว สุขี สทาสุทฺธสีลํ สมทาย ธมฺมํ สุจริตํ จเร ตสฺเสว อานุภาเวน โหตุ เทโว สุขี สทา ลิกฺขิตตํ ปูชํ ธารณํ วาจนํ ครุ ปเรสํ สุตฺวา ตสฺส อายุปวฑฺฒตีติ ฯ

......เทวเต ดูกรเทวดาทั้งหลาย พระธรรมนี้ชื่อว่าอุณหิสสวิชัย เป็นยอดแห่งพระธรรมทั้งหลายเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งมวล ท่านจงเอาพระธรรมนี้เป็นที่พึ่ง อุตสาห์สวดบ่นสาธยายทุกเช้าค่ำ ย่อมห้ามเสียซึ่งภัยทั้งปวง อันจะเกิดขึ้นจากผีปิศาจหมู่พยัคฆะงูใหญ่น้อย และพญาเสนาอำมาตย์ทั้งหลายจะไม่ตาย ผู้ใดได้เขียนไว้ก็ดี ได้ฟังก็ดี ได้สวดมนต์ภาวนาอยู่ทุกวันก็ดี จะมีอายุยืน เทวเต ดูกรเทวดา ทั้งหลายท่านจงมีความสุขเถิด

อนึ่งบุคคลผู้ใดบูชาแก้วทั้ง 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้เป็นยาอันอุดม ย่อมคุ้มครองผู้นั้นให้พ้นจากทุกข์ภัยพยาธิทั้งปวง ด้วยอำนาจพระอุณหิสสวิชัยนี้ จะรักษาคุ้มครองให้ชีวิตของท่านเจริญสืบต่อไป ท่านจงรักษาไว้ให้มั่นอย่าให้ขาดเถิด

เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนาลง เทวดาทั้งหลายมีท้าวอมรินทร์เป็นประธาน ได้ดื่มรสแห่งพระสัทธรรมเป็นอันมาก ฝ่าย สุปติฏฐิตาเทพบุตร มีจิตน้อมไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนานั้น ได้กลับอัตตภาพใหม่ คือ มีกายอันผ่องใส เป็นเทวบุตรหนุ่มคืนมาแล้วจะมีอายุยืนตลอดไปถึงพระพุทธพระนามว่า ศรีอริยเมตไตรย ลงมาตรัสจึงจะจุติจากเทวโลกลงมาสู่มนุษย์โลก เป็นพระอรหันตขีณาสวะองค์หนึ่ง ดังนั้นขอพุทธบริษัททั้งหลาย จงสำเนียกไว้ในใจแล้วประพฤติปฏิบัติในพระคาถา อุณหิสสวิชัย ก็จะสมมโนมัยตามความปรารถนาทุกประการ 

..................
......พระคาถาบทนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงเมตตาเทศน์สอน ท่านสุปติฏฐเทพบุตร ที่กำลังหมดอายุขัย จะต้องลงไปเสวยกรรมในนรก แต่เทวดาองค์นี้มีความกลัวมากที่จะต้องลงไปเกิดในเมืองนรก จึงดิ้นรนทุกวิถีทางที่จะไม่ไป แต่ก็ไม่มีใครจะช่วยเหลือได้ แม้แต่องค์พระอินทร์ แต่ยังโชคดีที่ได้พบพระพุทธเจ้า และทรงสอนด้วยพระคาถาบทนี้ จึงได้บรรลุพระโสดาบัน และมีอายุยืนยาวนานต่อไป

อุณหิสสะวิชะยะคาคานี้ จึงใช้ท่องสำหรับคนที่ดวงชะตาขาด ภาวนาเป็นการต่อดวงชะตาชีวิต และแม้บุคคลทั่วไปจะใช้ภาวนาก็จะทำให้เกิดโชคลาภ มีอำนาจ มีบริวาร และปราศจากภัย ในเรื่องของการมีอายุยืนยาว และยังทำให้สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างง่าย ๆ นี้ จึงทำให้ผู้ที่มีสุขภาพไม่ดี หรือขี้โรค หรือป่วยเป็นโรคที่รักษายากแล้ว นิยมหมั่นท่องภาวนาเป็นประจำ ด้วยอานุภาพแห่งพระคาถาบทนี้ จะทำให้โรคร้ายหายได้โดยเร็วพลัน และมีอายุยืนยาวต่อไปอีกด้วยhttp://www.youtube.com/watch?v=UmnSoViMZeE

มหาเมตตาใหญ่






























วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

อวโลกิเตศวร-กวนอิม

ปางที่ ๑ อวโลกิเตศวรถือกิ่งหลิว (杨柳观音หยางจือกวนอิน)
รูปลักษณะ : พระหัตถ์ซ้ายทำอภัยมุทรา พระหัตถ์ขวาถือกิ่งหลิ่ว ประทับบนหินผา พระหัตถ์ที่ถือกิ่งหลิ่วเป็นไภษัชยธรรม (ธรรมอันเป็นยา) สามารถขจัดโรคทั้งหลายได้ ในกวนอิมพันมือก็มีมือหนึ่งที่ถือกิ่งหลิ่ว ซึ่งในคัมภีร์สหัสรกรสหัสรเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาเมตตาจิตธารณี (大正No. 1064 ) และคัมภีร์สหัสรรัศมีเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์คุหยธรรมสูตร (大正No. 1065 ) กล่าวไว้ว่า พระอวโลกิเตศวรทรงถือกิ่งหลิ่วและคนโทบริสุทธิ์ ทรงสาดน้ำคืออมฤตธรรมให้ปกแผ่ไปทั่วด้วยจิตมีประกอบด้วยความเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่ เพื่อดับทุกข์ดับภัยแก่สรรพสัตว์
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๔๓ ข้อที่ ๑๘ กล่าวว่า พระองค์ (อวโลกิเตศวร) เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยบารมีแห่งกำลังอิทธิฤทธิ์ ทรงศึกษาในวิทยาและอุบายอย่างกว้างขวาง ทรงปราฏกในโลกทุกส่วน จากทุกทิศและในพุทธเกษตรทั้งปวง
อธิบาย : เป็นปางแรกของกวนอิน ๓๓ ปาง และเป็นที่นิยมมากปางหนึ่ง กวนอินปางนี้ถือความทรงพระคุณมากในเรื่องการรักษาโรค ใหโชคลาภ ช่วยให้ฝนตกและขจัดภัยต่าง ๆ จึงมีอีกชื่อว่า ไภษัชยราชาอวโลกิเตศวร ในประเทศจีนมีตำนานอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระอวโลกิเตศวรเสด็จไปโปรดชนบทที่แห้งแล้วในประเทศจีน ประชาชนเกือบทั้งหมดอดอยากยากเข็ญ ไม่มีศีล ไม่มีคุณธรรมเป็นส่วนมาก พระองค์ทรงแปลงกายเป็นหญิงชราเที่ยวเดินขอทานตามบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้รับความเมตตาใด ๆ เลย พระองค์ก็ได้ตั้งคำถามและให้คำตอบเป็นปริศนาธรรมต่าง ๆ จนมีชายอาวุโสชื่อหลิวซื่อเสียน เข้าใจปริศนาธรรมและรู้ว่าเป็นพระอวโลกิเตศวร จึงขอร้องให้พระองค์ช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนเหล่านั้น โดยให้ช่วยบันดาลฝนให้ตกจะได้มีน้ำพอเพียงชุ่มชื้นเพียงพอในการเพาะปลูก เฒ่าหลิวซื่อเสียนจึงได้เรี่ยไรเงินชาวบ้าน สร้างรูปปั้นของท่านไว้บูชา โดยประดิษฐานที่เขาไถ่ซื่อซาน ทำให้ชาวบ้านหันมาปฏิบัติธรรม

ปางที่ ๒ อวโลกิเตศวรขี่หัวมังกร(นาค) (龍頭觀音หลงโถวกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับบนหัวมังกร พระหัตถ์ขวาทรงถือกิ่งหลิ่ว พระหัตถ์ซ้ายจับผ้าขวาที่ทรงครอง ทรงครองผ้าสีขาว
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นรูปของเทวดาและนาคเพื่อแสดงธรรม แก่ผู้ที่สมควรโปรดด้วยรูปเทวดาและนาค
อธิบาย : คำว่า หลง” () ในคัมภีร์พุทธหมายถึงนาค ในคัมภีร์สัทธรรมสติปัฏฐานสี่ ผูกที่ ๑๘ บทที่ว่าด้วยเรื่องของสัตว์เดรัจฉานกล่าวว่า (正法念處經卷十八畜生品) นาคราชจัดเป็นส่วนหนึ่งของเดรัจฉานคติ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ไม่ฉลาดไม่มีปัญญา

ปางที่ ๓ อวโลกิเตศวรทรงคัมภีร์ (持經觀音ฉือจิงกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับนั่งอยู่บนหินผา มือขวาถือคัมภีร์
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นพระสาวกแสดงธรรม แก่พระสาวก
อธิบาย : คำว่า สาวกหมายถึงผู้สดับรับฟัง ในที่นี้หมายถึงรับฟังคำสั่งสอนมาจากพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าพระสาวก พระอวโลกิเตศวรทรงถือคัมภีร์ก็เพื่อแสดงธรรม เนื่องจากพระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์จึงชื่อพระอวโลกิเตศวรทรงคัมภีร์

ปางที่ ๔ ปูรณรัศมีอวโลกิเตศวร (圓光觀音เวี๋ยนกวงกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับอยู่บนหินผา พระวรการตั้งตรงปรากฏแสงสว่างที่โชติช่วงยิ่งนัก
เทียบในสมันตมุข : แม้บางครั้งต้องประสบทุกข์จากอาญาของพระราชา จวนถูกประหาร ชีวิตจะจบสิ้น ด้วยอำนาจของการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร มีดก็จะหักชำรุดไปเป็นท่อน ๆ
อธิบาย : คำว่า ปูรณหมายถึงเต็ม,บริบูรณ์ รัศมีหมายถึงแสงสว่าง เพราะพระอวโลกิเตศวรทรงกอรปไปด้วยความรักความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏออกมาของแสงสว่างนั้น ดังที่ในสมันตมุขก็ได้กล่าวไว้ว่า รัศมีอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน สุริยปัญญา(ปัญญาเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์) ทำลายความมืดมนทั้งหลาย สามารถกำราบภัยจากลมและไฟ รัศมีปกแผ่ทั่วโลกธาตุ

ปางที่ ๕ อวโลกิเตศวรทรงจาริก (遊戲觀音โหยวสีกวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงประทับอยู่เหนือเมฆ เข่าข้างซ้ายตั้งตรง มือขวายันร่างกายไว้
เทียบในสมันตมุข : แม้บางคราวเมื่อถูกคนร้ายไล่ จนพลัดตกจากเขาวชิระ(เขาสูง เขาที่แข็งแกร่ง) เมื่อได้ระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรด้วยอำนาจนั้น จักไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อยหรือแม้เพียงขนเส้นเดียว
อธิบาย : การอบรมสั่งสอนธรรมของพระอวโลกิเตศวรนั้นแพร่กระจายออกไปอย่างไม่มีสิ่งใดที่มาขว้างกันได้ ทรงปรากฏขึ้นได้ทุกที่ทุกสถาน เป็นอิสระในทุกสิ่ง จึงถูกกล่าวขานว่า พระอวโลกิเตศวรทรงจาริก หมายถึงการเที่ยวไปอย่างเป็นอิสระประกอบด้วยความเพลิดเพลิน เพราะได้นิรมาณกายไปช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย

ปางที่ ๖ พระปัณฑรวาสินีอวโลกิเตศวร (白衣觀音ป๋ายอีกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับเหนือดอกบัวสีขาว ทรงอาภรณ์สีขาว เหนือโขดหินที่ลาดด้วยหญ้า ทำท่าสมาธิมุทรา
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นพระภิกษุ,ภิกษุณีแสดงธรรม แก่พระพระภิกษุ,ภิกษุณี
อธิบาย : ธิเบตเรียกว่า “Gos-dkar-mo” สีขาวเป็นสีพื้นฐานของทุก ๆ สี เทียบกับหมื่นคุณูปการที่พร้อมพรั่ง อีกยังเทียบได้กับโพธิจิตที่บริสุทธิ์สะอาด กวนอินปางนี้เป็นที่รู้จักของคนส่วนมาก นิยมปั้นรูปเคารพ แต่มักรู้จักในชื่อกวนอินเสื้อขาว ในครรภ์ธาตุมณฑลของพระอวโลกิเตศวรปางนี้ร่างกายของพระองค์ปรากฏสีขาวและเหลือง ครองอาภรณ์สีขาว พระหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัวสีขาวเฝ้าปรารถนาให้ได้มาซึ่งภัยที่ถูกดับสลายแล้ว พระหัตถ์ขวาทรงทำพระหัตถ์พร้อมทั้งสภาพที่ปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์ โดยกางนิ้วทั้งห้าออกแล้วยื่นออกไปข้างนอกตัวตั้งอยู่ในระดับเอว นั่งขัดสมาธิบนดอกบัวสีแดงเรื่อ ๆ (อ่อนกว่าสีชมพู)

ปางที่ ๗ อวโลกิเตศวรนอนบัว (蓮臥觀音เหลียนว่อกวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้มีรูปลักษณะพนมมือ ทรงประทับนั่งอยู่บนกลีบของดอกบัว
เทียบในสมันตมุข : เทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปของพระจุลลจักรพรรดิ เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปของพระพระจุลลจักรพรรดิได้
อธิบาย : อธิบายว่าปางนี้ทรงประทับนั่งหรือนอนอยู่บนกลีบของดอกบัว เปรียบกับการกระทำของพระจุลลจักรพรรดิในสมันตมุขปริวรรตได้ว่า อุปมาดังพระจุลลจักรพรรดิที่ทรงมีพระวรกายที่สูงศักดิ์ประทับนั่งหรือนอนอยู่บนดอกบัว


ปางที่ ๘ อวโลกิเตศวรมองน้ำที่ไหลเชี่ยว (瀧見观音หลงเจี้ยนกวนอิน)
รูปลักษณะ : อนึ่งมีชื่อว่า อวโลกิเตศวรน้ำตกปางนี้ทรงพิงอยู่บนแท่นหินผา เพ่งพินิจพิจารณาการไหลของกระแสน้ำ
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๒ ข้อที่ ๕ กล่าวว่า ถ้าศัตรู (ผู้มีใจประทุษร้าย) ทำให้เขาตกลงไปในกองไฟ เพื่อหวังจะฆ่าให้ตาย เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร ไฟก็จะมอดดับไป เหมือนกับถูกน้ำรด

ปางที่ ๙ อวโลกิเตศวรประทานยา (施藥观音ซือเย่ากวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงประทับบนโขดหินริมสระน้ำ เพ่งพินิจพิจารณาดอกบัว พระหัตถ์ขวายันแก้มเอาไว้ พระหัตถ์ซ้ายท้าวสะเอ็วเอาไว้
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๓ ข้อที่ ๑๗ กล่าวไว้ว่า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ผู้มีกำลังญาน อันบริสุทธิ์ ทรงพิจารณาเห็นสัตว์ทั้งหลาย ที่ถูกความทุกข์หลายร้อยประการกดขี่ เบียดเบียน จึงเป็นผู้คุ้มครองสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งเทวดาให้รอดพ้นจากความทุกข์นั้น
อธิบาย : อันทานการให้พร้อมทั้งยาที่ดี ช่วยรักษาโรคภัย ความทุกข์ยากทางกายและใจของสรรพสัตว์ทั้งในด้านที่บวกและด้านลบ

ปางที่ ๑๐ อวโลกิเตศวรตะกร้าปลา (鱼篮观音หวีหลานกวนอิน)
รูปลักษณะ : บางครั้งก็เรียกว่ากวนอิมปางภรรยาของหม่าหลางฟู่ เพราะเป็นปางเดียวกัน ดูรายละเอียดในปางที่ ๒๘ ทรงมีปลาตัวใหญ่เป็นพาหนะ พระหัตถ์ถือตะกร้าซึ่งในนั่นมีปลา
เทียบในสมันตมุข : ฉบับพระกุมารชีพกล่าวว่า หรือไปพบพานรากษสบาป นาคมีพิษและเหล่าผีเป็นต้น ด้วยอำนาจระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ก็ไม่กล้าทำร้ายได้เลย

ปางที่ ๑๑ คุณราชาอวโลกิเตศวร (德王觀音เต๋อหวางกวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงนั่งขัดสมาธิบนหินผา พระหัตถ์ขวาทรงถือกิ่งหลิ่ว พระหัตถ์ซ้ายตั้งอยู่หน้าพระนาภี(สะดือ) บางก็ตั้งตรงอยู่เหนือเข่า สวมรัตนะมาลาเหนือพระเศียร
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นรูปพระพรหมราชาเพื่อแสดงธรรม แก่ผู้ที่สมควรแก่ผู้ที่ต้องโปรดด้วยพระพรหมราชาได้
อธิบาย : เป็นหนึ่งในปางที่ได้รับความนิยม เนื่องจากพระพรหมราชานั้นเป็นอธิบดีในกามภูมิ มีคุณอันประเสริญยอดเยี่ยม ดังนั้นจึงกล่าวว่าคุณราชา คือผู้มีคุณที่ยิ่งใหญ่

ปางที่ ๑๒ พระอวโลกิเตศวรแห่งสายน้ำและดวงจันทร์(水月觀音สุยแยว่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงนั่นขัดสมาธิบนโขดหินริมมหาสมุทรมีบัวรองรับ ปางยืนก็มี พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวที่ยังไม่บาน พระหัตถ์ขวาทรงอภัยมุทรา สายพระเนตรทอดลงต่ำ ทรงพิจารณาการไหลของกระแสน้ำและเงาของดวงจันทร์ที่ปรากฏในน้ำ บางครั้งพบว่ามี ๓ พระพักตร์ ๖ พระหัตถ์ สามพระหัตถ์ทางซ้ายมือทรงถือรัตนะปทุม สุวรรณจักร หางนกยูง สามพระหัตถ์ทางขวามือทรงถือดาบคม รัตนมุดดา ดอกอุบล(ดอกบัวเขียว) พระวรกายมีสีดังแสงพระอาทิตย์ ทรงประทับนั่งอยู่ในรัตนะบรรพต
เทียบในสมันตมุข : มักจะเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปปัจเจกพุทธเจ้า เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปพระปัจเจกพุทธเจ้าได้
อธิบาย : ในทางมนตรยานกวนอินปางนี้ก็คือพระวารีศรีโพธิสัตว์ในครรภ์ธาตุมณฑลของพระอวโลกิเตศวร มีตำนานเล่ากันต่อ ๆ มาว่าเป็นตอนที่พระอวโลกิเตศวรเสด็จโปรดวิญญาณผีตายโหงที่เมืองกู่ซู (เนื่องจากชาวเมืองถูกกองทหารจีนฆ่าตายอย่างไม่เป็นธรรม) พระโพธิสัตว์จึงทรงประทับนั่งบริกรรมพุทธมนต์บนโขดหิน พระหัตถ์ถือแจกันหยกมีกิ่งหลิ่วปักอยู่ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณทั้งหลายเป็นเวลา ๔๙ วัน กวนอินปางนี้เป็นที่นิยมทั้งในจีนและญี่ปุ่น ในทางธรรมะอาจตีความได้ว่าพระโพธิสัตว์ทรงสอนให้เราพิจารณาเงาดวงจันทร์ในน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลวงหลอก ไม่มีอยู่จริง รูปทั้งหลายเป็นอย่างเช่นนี้ เมื่อเราเพ่งเล็งเห็นอยู่อย่างนี้แล้ว ย่อมคลายความยึดมั่นถือมันในรูปได้

ปางที่ ๑๓ พระอวโลกิเตศวรหนึ่งกลีบ (一葉觀音อีแย่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับบนกลีบของดอกบัว ๑ กลีบลอยอยู่บนผิวน้ำ พระชานุ(เข่า)ซ้ายยืดตรง พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนเข่า พระหัตถ์ขวาห้อยต่ำยันร่างกายเอาไว้
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๓๙ ย่อหน้าที่ ๑ ดูก่อนกุลบุตร สัตว์เหล่าใดท่องจำนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ ก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์นั้นได้ ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์ทั้งหลายถูกกระแสน้ำพัดพาไป พึงกระทำการเรียกพระนาม ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ แม่น้ำทั้งปวงเหล่านั้นจะให้ความรักเอ็นดูแก่สัตวเหล่านั้น ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์จำนวนร้อยพันหมื่นโกฏิ ลงเรือไปในท่ามกลางสมุทร ทรัพย์สินที่สร้างไว้เช่นเงิน ทอง แก้วมณี มุดดา เพชร ไพฑูรย์ สังข์ ประพาฬ มรกต สุมาร์คลวะและมุกแดงเป็นต้น(จะเสียหาย) เรือของเขาถูกพายุพัดไปติดเกาะของรากษส ถ้าในเรือนั้นพึงมีสัตว์ผู้หนึ่ง กระทำการเรียกพระนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ เขาเหล่านั้นทั้งหมด จะรอดพ้นจากเกาะของรากษสนั้น ดูก่อนกุลบุตรเพราะเหตุนี้เอง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ จึงได้ชื่อว่า อวโลกิเตศวรอนึ่งยังมักจะเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปนายบ้าน เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปนายบ้านได้
อธิบาย : บางครั้งก็เรียกว่าพระอวโลกิเตศวรแห่งกลีบบัว เพราะทรงมีกลีบบัวเป็นพาหนะจึงชื่อว่าพระอวโลกิเตศวรหนึ่งกลีบ ปางนี้บางครั้งก็เรียกว่าพระอวโลกิเตศวรแห่งทะเลใต้ (ดูรายละเอียดในประวัติผู่ทัวซาน)

ปางที่ ๑๔ นีลกัณฐอวโลกิเตศวร (青頸观音ชิ่นจิ่นกวนอิน)
รูปลักษณะ : ลักษณะทางประติมานวิทยาทั่วไปมักในพระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว พระหัตถ์ขวาทรงชูขึ้นระดับอก ทรงคุกเข่าบนอาสนะ ประทับนั่งอยู่บนโขดหิน ซึ่งมีที่มาจากพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับพระนีลกัณฐ
เทียบในสมันตมุข : มักจะเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปพระพุทธเจ้า เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปพระพุทธเจ้าได้
อธิบาย : นีลกัณฐแปลว่าคอสีนิลหรือสีเขียวคล้ำ กล่าวกันว่าหากสัตว์เหล่าใดได้ระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรแล้ว ย่อมห่างไกลจากความทุกข์ยากต่าง ๆ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย พระอวโลกิเตศวรปางนี้เป็นปางสำคัญปางหนึ่งในทางมนตรยาน อีกทั้งพบชื่อนี้ในมหากรุณาธารณีสูตร กล่าวกันว่าเมื่อครั้งที่พวกเทวดาได้กวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต ในทะเลได้เกิดพิษขึ้นมา เมื่อพระอวโลกิเตศวรเห็นดังนั้นเกรงจะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทั้งหลาย จึงทรงกลืนกินพิษนั้น จึงทำให้พระศอหรือคอมีสีดำคล้ำ

ปางที่ ๑๕ อุครวติ-อวโลกิเตศวร (威德观音เวยเต๋อกวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายถือวัชระคฑาทรงประทับอยู่บนหินผา
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงปรากฏรูปเป็นเสนาบดี เพื่อแสดงธรรมโปรดผู้เป็นเสนาบดี
อธิบาย : เสนาบดีนั้นเพรียบพร้อมไปด้วยอำนาจและคุณเป็นอเนก ประดุจดังอำนาจคือการกำราบ มุ่งปกป้องรักษาด้วยความรักความกรุณาคือคุณ รวมอยู่ในพระอวโลกิเตศวร ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าอุครวติ-อวโลกิเตศวร ผู้มีคุณและพลานุภาพ

ปางที่ ๑๖ พระอายุวัฒนะอวโลกิเตศวร (延命觀音เยี๋ยนมิ่งกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงครองผ้าทิพย์ ทรงสวมมหารัตนะมาลาบนพระเศียร เกยูรกำไลตลอดจนเส้นพระเกศานั้นงดงามยิ่ง ทรงช่วยเหลือทั้งหลายจึงมีพระหัตถ์ถึง ๒๐ พระหัตถ์ ทางซ้ายจากพระพักตร์ ๑๐ พระหัตถ์แรกทรงถือรัตนะมุดดา ดาบวิเศษ(ดาบรัตนะ) สุวรรณจักร ท่อนไม้วัชระ ป้ายประกาศไม้ กระดิ่งวัชระใหญ่ กระดิ่งวัชระ ดอกบัวใหญ่ อักษมาลา(ลูกประคำ) มุทราท่ากำมัด ทางขวาจากพระพักตร์ ๑๐ พระหัตถ์หลังทรงถือหอกเหล็ก ดาบวัชระ รูปพระพุทธเจ้า วัชระรัตนะ คันฉ่องรัตนะ วัชระบ่วงบาศ วัชระ วัชระคฑา ๕ ยอด วัชระและอเภตฺริมุทรา(มุทราแห่งความปราศจากความกลัว) ทรงมีรัศมีที่รุ่งโรจน์ยิ่งนัก พระบาททั้งสองมีลักษณะของลายกงจักรที่ประกอบด้วยดุมและกง ทรงสถิตมั่นอยู่ในจันทร์จักรบนดอกบัว
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๔๓ ข้อที่ ๑๒ กล่าวว่า เวทมนตร์คาถา วิทยาของผู้มีพลัง ยาพิษ ภูต เวตาล ที่ทำให้ร่างกายถึงความหายนะได้ เมื่อเขาระลึกพระอวโลกิเตศวร สิ่งเหล่านั้นจะเสื่อมไปในทันที
อธิบาย : จากข้างต้นพระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายมาเพื่อขจัดเวทมนตร์คาถา วิทยาของผู้มีพลัง ยาพิษ ภูต เวตาล ที่ทำให้ร่างกายถึงความหายนะได้ ดังนั้นจึงกล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรผู้ทำให้มีอายุยืน

ปางที่ ๑๗ พระอวโลกิเตศวรทรงรัตนะมากมาย (众宝观音จ้งเป่ากวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงประทับอยู่บนแท่นหินผาริมน้ำ พระบาทเบื้องขวายื่นออกมาประทับอยู่บนหิน พระหัตถ์ขวากดแผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายตั้งอยู่ระดับพระนาภี (สะดือ) ในระดับที่เหมาะสม เมื่อมองดูแล้วสงบ
เทียบในสมันตมุข : หากจะมีสัตว์โลกมีจำนวนนับด้วยร้อย พัน หมื่น แสน ก็ดี ต้องการแสวงหาทอง เงิน ไพฑูรย์ ผลึก ทับทิม มรกต บุศราคุม อันเป็นของมีค่า หากันแต่งเรือไปยังทะเลใหญ่ สมมติว่าในระหว่างนั้น เรือได้ถูกพายุพัดพาไปยังแว่นแคว้นอันเป็นที่อยู่ของรากษส หากจะมีแม่แต่คนหนึ่งในบรรดาคนเหล่านั้น สวดพระนามพระอวโลกิเตศวร แล้วไซร์ สัตว์โลกเหล่านั้นทุกคนจะได้รับความรอดพ้นจากอันตรายของรากษส ด้วยเหตุนี้แลพระโพธิสัตว์เจ้าองค์นั้น จึงได้รับสมญานามว่า อวโลกิเตศวร
อธิบาย : อนึ่งยังเทียบได้กับพระอวโลกิเตศวรที่ทรงแสดงธรรมได้ในรูปของเศรษฐี ดังที่ได้ปรากฏในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร สมันตมุขปริวรรต ด้วยเหตุเหล่านี้เองกวนอินปางนี้จึงได้ชื่อว่าอวโลกเตศวรทรงรัตนะมากมาย

ปางที่ ๑๘ อวโลกิเตศวรประตูหิน (观音เอี๋ยนฮู่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงประทับนั่งขัดสมาธิด้วยพระวรกายที่ตั้งตรง บนดอกบัวแล้วพนมมือ ภายในถ้ำหินปรากฏแสงที่สว่างโชติช่วง
เทียบในสมันตมุข : เมื่อใดมีงูพิษตลอดจนแมลงมีพิษร้าย มีไอพิษเหมือนควันไฟลุกไหม้ ด้วยอำนาจแห่งการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ด้วยเสียงของเขานั้นทำให้สัตว์เหล่านั้นหนีหายไป
อธิบาย : เหตุที่สัตว์มีพิษเหล่านั้นมักจะอาศัยอยู่ในถ้ำหลายชนิด หากได้ระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรแล้ว พระองค์ย่อมช่วยให้พ้นภัย ดังนั้นกวนอิมปางนี้จึงมีรูปแบบที่ประทับอยู่ในถ้ำ

ปางที่ ๑๙ พระอวโลกิเตศวรทรงทำความสงบ (能靜觀音เหนิงจิ้งกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงนั่งขัดสมาธิบนโขดหินบริเวณริมทะเล(น้ำ) พระหัตถ์ทั้งสองวางอยู่บนโขดหินอย่างเป็นธรรมชาติ พระบาทซ้ายยื่นออกมา พระบาทขวาโค้งงอ แม้มีลมแรงพัดพามาก็ไม่หวั่นไหว ปรากฏลักษณะที่สงบนิ่ง
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๓๙ ย่อหน้าที่ ๑ ดูก่อนกุลบุตร สัตว์เหล่าใดท่องจำนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ ก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์นั้นได้ ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์ทั้งหลายถูกกระแสน้ำพัดพาไป พึงกระทำการเรียกพระนาม ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ แม่น้ำทั้งปวงเหล่านั้นจะให้ความรักเอ็นดูแก่สัตวเหล่านั้น ดูก่อนกุลบุตร ถ้าสัตว์จำนวนร้อยพันหมื่นโกฏิ ลงเรือไปในท่ามกลางสมุทร ทรัพย์สินที่สร้างไว้เช่นเงิน ทอง แก้วมณี มุดดา เพชร ไพฑูรย์ สังข์ ประพาฬ มรกต สุมาร์คลวะและมุกแดงเป็นต้น(จะเสียหาย) เรือของเขาถูกพายุพัดไปติดเกาะของรากษส ถ้าในเรือนั้นพึงมีสัตว์ผู้หนึ่ง กระทำการเรียกพระนามของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ เขาเหล่านั้นทั้งหมด จะรอดพ้นจากเกาะของรากษสนั้น ดูก่อนกุลบุตรเพราะเหตุนี้เอง พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ จึงได้ชื่อว่า อวโลกิเตศวรหรือในโศลกฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๒ ข้อที่ ๖ หากว่าบุคคลทำให้เขาตกไปในมหาสมุทรที่ลึกยิ่ง (ยากที่จะหยั่งถึง) อันเป็นที่อยู่ของนาค สัตว์น้ำและปีศาจ เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร เขาก็จะไม่จมลงไปในทะเลหลวง
อธิบาย : กวนอินปางนี้ที่ชื่อว่าทำความสงบ เพราะทรงนิรมาณกายไปช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายจึงทำให้เภทภัย ความทุกข์ยากของหายไปได้ จึงได้ชื่อว่าทำความสงบให้เกิดขึ้น

ปางที่ ๒๐ อนุ-อวโลกิเตศวร (阿耨觀音ออโน่วกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับอยู่บนหินผา ทรงครองผ้าทิพย์สีทอง พระหัตถ์ซ้ายถือผ้าอยู่ระดับหน้าท้อง พระหัตถ์ขวาปล่อยวางไว้บนเข่าขวา พินิจพิจารณาลักษณะของทะเลที่สงบนิ่ง
เทียบในสมันตมุข : ฉบับของท่านกุมารชีวะกล่าวไว้ว่า แม้บางครั้งหากพลัดพเนจรไปในทะเลที่กว้างใหญ่ ประสบภัยจากนาค ปลา ผีทั้งหลายเหล่านี้ ด้วยอำนาจของการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร คลื่นไม่สามารถซัดสาดให้จมน้ำได้
อธิบาย : เนื่องด้วยในทะเลที่กว้างใหญ่มีนาคและปลาในสระอโนดาต (อนวตปฺต) อยู่เป็นเหตุปัจจัย เหตุนั้นจึงกล่าวขานว่า อนุ-อวโลกิเตศวร

ปางที่ ๒๑ พระอเภตฺริอวโลกิเตศวร (阿摩提觀音อาหมอถีกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงมีพระเนตร ๓ ดวง ๔ พระหัตถ์ ทรงราชสีห์สีขาวเป็นพาหนะ มีนั่งบนโขดหินบ้าง ทรงสวมมงกุฎรัตนมาลา พระหัตถ์ขวากรที่ ๑ ทรงถือดอกบัวสีขาว พระหัตถ์ขวากรที่ ๒ ทรงถือนกหงส์มงคลสีขาว พระหัตถ์ซ้ายกรที่ ๑ ทรงถือเครื่องดนตรีประเททเครื่องสายรูปหัวนกหงส์ตัวผู้ ซึ่งจำนวนสายจะต่างกันไปตามขนาด พระหัตถ์ซ้ายกรที่ ๒ ทรงถือมกร(สัตว์ทะเลซึ่งอาจจะเป็นปลาใหญ่เช่นเต่าใหญ่หรือปาวาฬ) พระบาทขวาห้อยลงต่ำ งอพระบาทซ้ายเหยีบลงบนหัวราชสีห์
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเป็นรูปของพระเวสสุวรรณเพื่อแสดงธรรม แก่ผู้ที่สมควรโปรดด้วยรูปของพระเวสสุวรรณ
อธิบาย : คำว่า อเภตฺริบ้างก็เขียนว่า อเภตฺติแปลว่าผู้ไม่มีความกลัว หรือผู้หาความกลัวมิได้

ปางที่ ๒๒ พระปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวร (葉衣觀音แย่อีกวนอิน)
รูปลักษณะ : มักพบว่าทรงประทับนั่งบนโขดหินที่ลาดด้วยหญ้า ในคัมภีร์ปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์สูตรกล่าวว่า ทรงมีรูปเป็นเทวนารี สวมมงกุฎรัตนมาลาบนพระเศียร ประดิษฐานรูปพระอมิตายุพุทธเจ้าในใจกลางรัตนะมาลา พระวรกายประดับตกแต่งด้วยเกยูรสร้อยกำไลของมีค่าต่าง ๆ ตลอดจนปรากฏรัศมีจากพระวรกายสว่างยิ่งนัก ทรงมีถึง ๔ กร กรที่ ๑ ด้านขวาทรงถือผลมงคลไว้ในระดับอก กรที่ ๒ ด้านขวาทรงทำท่าทานประณิธานมุทรา กรที่ ๑ ด้านซ้ายทรงถือขวาน กรที่ ๒ ด้านซ้ายทรงถือบ่วงบาศ ทรงประทับนั่งบนดอกบัว
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระอินทร์ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของพระอินทร์ได้
อธิบาย : กวนอินปางนี้ก็คือพระปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวรในครรภ์ธาตุมณฑล มีพระสูตรที่กล่าวถึงพระองค์เป็นการเฉพาะ มักถือกันว่ากวนอินปางนี้ทรงประทานความมีอายุยืนความไม่มีโรค คำว่า ปลาศาวลินฺอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หมายถึงพระอวโลกิเตศวรผู้นุ่งใบไม้แทนผ้า

ปางที่ ๒๓ พระไวฑูรยอวโลกิเตศวร (琉璃觀音หลิวหลีกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงมีกลีบดอกบัวเป็นพาหนะ ประทับยืนบนผิวน้ำ พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรไวฑูรย
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๔๓ ข้อที่ ๑๐-๑๑ ถ้าบุคคล ต้องโทษจองจำอยู่ในหลักประหาร เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร อาวุธ(ของเพชฌฆาต)ก็จะแตกละเอียด (เป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่) อีกหนึ่งบ้างท่านก็เทียบกับ พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระอิศวร เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของพระอิศวรได้
อธิบาย : คำว่า ไวฑูรย์หรือไพฑูรย์นั้นเป็นอัญมณีชนิดหนึ่งซึ่งมีสีฟ้า อนึ่งยังมีอีกชื่อว่า อุตมราชาอวโลกิเตศวรซึ่งมีที่มาจากคัมภีร์อุตมราชาอวโลกิเตศวรสูตร พระโพธิสัตว์นั้นช่วยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ หากท่องพระสูตรนี้หนึ่งพันจบ ผู้ที่ตายแล้วยังจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เรื่องนี้มีที่มาจากในสมัยที่ราชวงศ์เว่ยเหนือแตกออกเป็นเว่ยตะวันออกในระหว่างศักราชไท่ผิงราวค.ศ.๕๓๔-๕๓๗ มีนายทหารผู้หนึ่ง ขณะที่อยู่ในเวลาป้องกันชายแดน ได้สร้างรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรไว้แล้วเคารพไหว้กราบอย่างสม่ำเสมอ ต่อมาได้โดยสารไปยังพวกฮวนที่อยู่ทางทิศเหนือและทางตะวันออกของจีน ได้ต้องโทษประหาร ณ ที่นั้น ในระว่างคืนนั้นได้ฝันเห็นพระสมณะรูปหนึ่ง มาแนะน้ำให้สวดสาธยายพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องพระอวโลกิเตศวรช่วยชีวิต หลังจากที่ได้ตื่นยอนแล้วก็ท่องได้หนึ่งร้อยจบ เมื่อเวลาสำเร็จโทษใกล้จะมาถึงเขาได้ท่องครบถึงพันจบพอดี อาวุธที่จะนำมาประหารนั้นไม่สามารถทำอะไรเขาได้เลย จึงรอดพ้นความตายมาได้นายคนนั้นจึงได้มากราบไหว้รูปของพระอวโลกิเตศวร ในคืนที่ได้ฝันเห็นถึงสมณะนั้น สมณะผู้นั้นได้มอบพระสูตรไว้ให้ด้วยมีชื่อว่า อุตมราชาอวโลกิเตศวรสูตรหรือ อายุวัฒนะทศวจีอวโลกิเตศวรสูตร

ปางที่ ๒๔ พระตาราอวโลกิเตศวร (多羅觀音ตัวหลอกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับยืนอยู่บนก้อนเมฆ บ้างก็ทรงนั่งขัดสมาธิบนโขดหิน มีลักษณะที่พิจาณาเพ่งมองมาที่สัตว์ทั้งหลาย ทรงมีร่างเป็นหญิงแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ครองอาภรณ์สีขาวใหม่เอี่ยม ทรงมีพระวรกายที่งดงามมาก ในเวลาที่ทรงพนมมือ ในมือนั้นทรงถือดอกอุบล(บัวเขียว)
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้าที่ ๒๔๓ ข้อที่ ๙ ถ้าบุคคล ถูกหมู่ศัตรูที่มีอาวุธครบมือล้อมไว้ ด้วยจิตคิดจะเบียดเบียน เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร ศัตรูก็จะเกิดจิตเมตตาขึ้นในขณะนั้น
อธิบาย : พระตารานั้นเป็นนิรมาณกายของพระอวโลกิเตศวร ทรงเพศเป็นหญิง (ดูลายละเอียดเพิ่มเติมในบทพระแม่ตารา)

ปางที่ ๒๕ พระอวโลกิเตศวรหอยกาบ (蛤蜊觀音เก๋อะลี่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับอยู่ในหอยกาบ
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระโพธิสัตว์ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของพระโพธิสัตว์ได้
อธิบาย : ในบันทึกเรื่องราวพระพุทธเจ้าโดยครอบคลุม(佛祖統紀) ผูกที่ ๔๒ กล่าวว่าปางนี้เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง สมัยพระเจ้าเหวินจง(文宗) ราวค.ศ.๘๒๗-๘๔๐ ในตอนที่กษัตริย์พระองค์นี้เริ่มเปิดศักราชแห่งการปกครองใหม่ ๆ กษัตริย์พระองค์นี้โปรดปรานการกินหอยกาบมาก ทุก ๆ วันสัตว์ต่อตายลงเป็นอันมาก วันหนึ่งผ่าหอยไม่มีผู้ใดผ่าหอยได้เลย จึงได้จุดธูปของพร ทันใดนั้นหอยกาบก็ได่กลายร่างเป็นรูปพระโพธิสัตว์ในทันที กษัตริย์จึงได้ตรัสเรียกอาจารย์ในนิกายเซน(ฌาน) มาสอบถามถึงสาเหตุเรื่องนี้ พระสงฆ์นั้นตอบว่าเป็นการเนรมิตการเพื่อแสดงธรรมให้มหาบพิตรเลิกเสวยหอย การที่พระโพธิสัตว์นั้นปรากฏร่างเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ทำจึงไม่ศรัทธาแล้วเลิกเสวยหอยอีกเล่า กษัตริย์เกิดความปิติยินดี จึงได้มีพระราชโองการให้สร้างรูปกวนอินปางนี้ขึ้นในวัดเป็นคนแรก

ปางที่ ๒๖ ษฑฺฤตวอวโลกิเตศวร (六時觀音ลิ่วสือกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือคัมภีร์ที่จารด้วยใบลาน
เทียบในสมันตมุข : ฉบับสันสกฤตหน้า ๒๔๓ ข้อที่ ๑๘ พระองค์ (อวโลกิเตศวร) ผู้มีกำลังญาณ อันบริสุทธิ์ ทรงพิจารณาเห็นสัตว์ทั้งหลาย ที่ถูกความทุกข์หลายร้อนประการกดขี่ เบียดเบียน จึงเป็นผู้คุ้มครองสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งเทวดาให้รอดพ้นจากความทุกข์นั้นอนึ่งยังเทียบกับพระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปคฤหบดีได้ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของคฤหบดี
อธิบาย : ในประเทศอินเดียมีความกว้างใหญ่ แต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกันจึงทำให้มีฤดูกาลที่หลายรูปแบบ ๑ ปีมี ๓ ฤดูบ้าง ๑ ปีมี ๖ ฤดูบ้าง ดังที่พบในวรรณคดีสันสกฤตและบาลี คำว่า ษฑฺฤตวแปลว่าฤดูกาลที่ ๑ ปีมี ๖ ฤดูคือวสนฺตหรือวสันต์ฤดูเดือนไทยคือเดือน๕-๖ คฺศีษฺมหรือคิมหันต์ฤดูเดือนไทยคือเดือน๗-๘ วรฺษาหรือวัสสานฤดูเดือนไทยคือเดือน๙-๑๐ ศรทฺหรือสรทฤดูเดือนไทยคือเดือน๑๑-๑๒ เหมนฺตหรือเหมันตฤดูเดือนไทยคือเดือนอ้าย-ยี่ ศิศิรหรือสิสิรฤดูเดือนไทยคือเดือน๓-๔ กวนอินปางนี้หมายถึงพระอวโลกิเตศวรทรงเมตตาสัตว์ทั้งหลายในทุกฤดู ทุกเช้าทุกเย็น จึงเรียกว่า ษฑฺฤตวอวโลกิเตศวร หรือกวนอิน ๖ ฤดู

ปางที่ ๒๗ สมันตกรุณาอวโลกิเตศวร (普悲观音ผู่เปยกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับยืนบนยอดเขา พระหัตถ์ทั้งสองซ่อนธรรมอาภรณ์อยู่อยู่ด้านหน้า
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปพระมเหศวรได้ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของพระมเหศวรได้
อธิบาย : พระมเหศวรทรงเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดในสามโลก ทรงมีอานุภาพมากมาย เปรียบดังความเมตตากรุณาความรักที่มีต่อสัตว์ทั้งหลายของพระอวโลกิเตศวรที่แผ่ซ่านไปทั่วตริสหัสมหาสหัสโลกธาตุ ด้วยเหตุนี้เองจึงชื่อว่า สมันตกรุณาอวโลกิเตศวรผู้มีความกรุณาที่ปกคลุมไปทั่ว

ปางที่ ๒๘ พระอวโลกิเตศวรภรรยาของหม่าหลาง (馬郎婦觀音หม่าหลางฟู่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ปางนี้ทรงนิรมาณกายเป็นภรรยาของนายหม่าหลาง พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตร พระหัตถ์ซ้ายถือหัวกะโหลกหรือที่ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ชัฏวางคะ
เทียบในสมันตมุข : พระอวโลกิเตศวรทรงแปลงเป็นรูปหญิงภรรยาได้ เพื่อการแสดงธรรม ในรูปของหญิงภรรยา
อธิบาย : ในตำนานกล่าวกันว่า ในสมัยพระเจ้าเซี่ยนจง แห่งราชวงศ์ถัง ศักราชหยวนเหอปีที่ ๑๒ ราวค.ศ.๘๑๗(唐憲宗元和十二年) แต่บางแห่งกล่าวว่าปีที่ ๔ ไม่ใช่ปีที่ ๑๒ มีหญิงชาวประมงรูปร่างสวยงาม นำปลาหลายตัวใส่ตะกร้าไปขายในละแวกหมู่บ้านชาวประมงที่ไม่มีศาสนาและศีลธรรมจรรยา โดยกำหนดเงื่อนไขแก่ผู้ซื้อว่า จะขายปลาให้ก็ต่อเมื่อซื้อปลาเพื่อเอาไปปล่อยเท่านั้น ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องโง่เขลา น่าขบขัน ไม่มีผู้ซื้อปลาจากแม้จะทรงเดินขายอยู่หลายวัน อย่างไรก็ดีมีชายหนุ่มหลายคนมาหลงรักหญิงสาวนั้น และได้พากันมาสารภาพขอแต่งงานด้วย พระองค์ไม่ทรงรับและไม่ปฏิเสธ แต่ตั้งเงื่อนไขให้บุคคลเหล่านั้นถือศีลสวดมนต์ ตั้งตนเป็นสัมมาทิฐิเลื่อมใสในพระรัตนตรัย โดยคืนแรกหญิงนั้นกล่าวว่าให้สวดสาธยานสมันตมุขปริวรรต พอยามฟ้าสางเหลือคนท่องแค่ ๒๐ คน หญิงนั้นจึงมอบวัชรสูตรให้ในอีกคืนหนึ่ง โดยกล่าวว่าถ้าใครสาธยายได้สำเร็จจะให้เป็นสามี ก็เหลือผู้ที่ท่องเพียงแค่ ๑๐ คน หญิงนั้นจึงได้มอบสัทธรรมปุณฑริกสูตรฉบับของพระกุมารชีพให้อีก แล้วบอกว่าอีกสามวันให้หลังเจอกัน พอถึงวันนัดหมาย มีเพียงชายวัยหนุ่มสาวแซ่หม่า() ที่เข้าใจพระสูตรอย่างทั่วถึง จึงได้หญิงนั้นไปเป็นภรรยา แต่ทว่าหญิงนั้นได้เป็นโรคอยู่แต่ในห้องและได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อถึงวันแต่งงาน หลังจากนั้นก็ได้มีพิธีฌาปนกิจ แต่ร่างกายที่เน่าเปื่อยได้สลายหายไปในอากาศ หลังจากนั้นได้มีพระภิกษุเฒ่ารูปหนึ่งครองจีวรสีครั่ง(แดง) ได้ไปยังที่ฌาปนกิจนั้นได้เพ่งดูสุดชีวิต เห็นเพียงกระดูกไหลปลาร้าสีเหลืองทองยังมีอยู่ พระภิกษุเฒ่ารูปนั้นจึงกล่าวแก่มหาชนว่า นั้นคือ(นิรมาณกายของ)พระอวโลกิเตศวรมหาบุรุษ ที่ทรงเมตตากรุณาต่อท่านทั้งหลาย เนื่องด้วยมีสิ่งขวางกั้นที่หนักยิ่งนักจึงได้เนรมิตมาสั่งสอนท่านทั้งหลายโดยความเหมาะสมทางโสตประสาทพอพูดจบก็เหาะจากไป เหตุนี้เองมหาชนจึงเกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก ต่อมาในสมัยราชวงศซ่งก็ลดลง แต่ทว่าพระอวโลกิเตศวรภรรยาของหม่าหลางนั้นกลับมีผู้คนศรัทธาอย่างเจริญรุ่งเรือง ปางนี้เป็นปางเดียวกับปางที่ ๑๐ ที่ถือตะกร้าปลา

ปางที่ ๒๙ อวโลกิเตศวรพนมมือ (合掌觀音เหอจั่งกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงครองผ้าสีขาว นั่งประคองอัญชลีอยู่บนโขดหินบ้าง ประทับยืนประคองอัญชลีบ้าง
เทียบในสมันตมุข : ในคัมภีร์นั้นได้กล่าวไว้ว่าพระอวโลกิเตศวรทรงนิรมาณกายเพื่อช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย จึงได้นิรมาณกายถึง ๓๓ ปาง หนึ่งในนั้นมีรูปกายของพรามณ์ ซึ่งเทียบกับปางพนมมือนี้ อนึ่ง ในคัมภีร์ยังได้มีกล่าวว่า ดูก่อนกุลบุตร สัตว์ทั้งหลายผู้มีราคจริต เมื่อได้นมัสการพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์แล้ว ก็จักเป็นผู้ปราศจากราคะ สัตว์ทั้งหลายผู้มีโทสจริต เมื่อได้นมัสการพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์แล้ว ก็จักเป็นผู้ปราศจากโทสะ สัตว์ทั้งหลายผู้มีโมหจริต เมื่อได้นมัสการพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์แล้ว ก็จักเป็นผู้ปราศจากโมหะ ดูก่อนกุลบุตร พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์มหาสัตว์ เป็นผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้” (หน้า ๒๔๐ ย่อหน้าที่ ๒)
อธิบาย : ความนอบน้อมเป็นลักษณะของปราชญ์ จากข้างต้นแสดงให้เห็นว่าความนอบน้อมมีผลอย่างไร ถือเป็นคำสอนจากพระอวโลกิเตศวรปางนี้

ปางที่ ๓๐ พระอวโลกิเตศวรเอกตถตา (一如觀音อิหรู่กวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงประทับบนก้อนเมฆ เหะเหินไปในนภาอากาศ
เทียบในสมันตมุข : ฉบับของพระกุมารชีพแปลว่า เมฆทะมึน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ลูกเห็บตก ลมฝนพายุใหญ่ ด้วยอำนาจแห่งการระลึกถึงพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ สิ่งต่าง ๆ ในเวลานั้นย่อมจักสลายหายไปเทียบที่อ้างแล้วในปางที่ ๓๓ อันเป็นข้อความในฉบับภาษาสันสกฤต
อธิบาย : คำว่า เอกตถตาคือเป็นหนึ่งเดียว ไม่เป็นสอง มีใจความว่าไม่มีสิ่งใดที่แตกต่างกัน สิ่งนี้กล่าวคือปรมัตถ์สัจจะ อันเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งขวางกั้น ปกคลุมทั่วธรรมธาตุ พระอวโลกิเตศวรทรงมีปัญญาที่ประเสริฐ พินิจพิจารณาเอกตถตาธรรมนี้ อีกทั้งพระอวโลกิเตศวรยังทรงสามารถสั่งกำราบเมฆทะมึน ฟ้าร้อน ฟ้าฝ่า ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดจากมารได้อีกด้วย

ปางที่ ๓๑ พระอวโลกิเตศวรทรงไม่เป็นสอง (不二觀音ปู้เอ้อกวนอิน)
รูปลักษณะ : พระหัตถ์ทั้งสองถือวัชระคฑา ทรงประทับบนกลีบบัวบ้าง ทรงนั่งขัดสมาธิบนโขดหินบ้าง
เทียบในสมันตมุข : เทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปของพระวัชรปาณี เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปของพระวัชรปาณีได้
อธิบาย : ที่เทียบกับพระวัชระปาณีนั้นเพราะพระวัชรปาณีทรงเป็นผู้ทรงธำรงรักษาพระพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวรก็เป็นเช่นเดียวกัน ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันไม่แบ่งแยกว่านั้นเธอนั้นฉัน นั้นของเธอ นั้นของฉัน จึงชื่อว่าไม่เป็นสอง คือปราศจากความแตกต่าง แบ่งแยกนั่นเอง

ปางที่ ๓๒ พระอวโลกิเตศวรทรงบัว (持蓮觀音ฉือเหลียนกวนอิน)
รูปลักษณะ : ทรงถือดอกบัวหนึ่งก้านในพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงประทับยืนบนกลีบดอกบัว ทรงสวมรัตนะมาลาบนพระเศียร ครองผ้าทิพย์ เกยูรสร้อยกำไลต่าง ๆ งดงามบริบูรณ์ยิ่งนัก
เทียบในสมันตมุข : มักเทียบกับการที่พระอวโลกิเตศวรสามารถนิรมาณกายเป็นรูปกุลบุตรและกุลธิดา เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ที่เหมาะสมกับรูปของกุลบุตรและกุลธิดาได้


ปางที่ ๓๓ พระอวโลกิเตศวรโปรยน้ำ(灑水觀音ส่าสุยกวนอิน)
รูปลักษณะ : ในพระหัตถ์ซ้ายทรงถือคนโทบริสุทธิ์บ้าง บาตรบ้าง พระหัตถ์ขวาถือกิ่งหลิ่วเพื่อใช้ในการโปรยน้ำอมฤต ทรงประทับยืนบนพื้นดินบ้าง เมฆบ้าง
เทียบในสมันตมุข : เมื่อฝนตก ปรากฏสายฟ้า ฟ้าร้อง ฟ้าแลบและฟ้าผ่า เมื่อเขาระลึกถึงพระอวโลกิเตศวร เหตุการณ์เหล่านั้นก็จะหมดพิษไปในทันที” (หน้า ๒๔๓ ข้อที่ ๑๖) ในภาษาจีนฉบับของท่านกุมารชีวะแปลไว้ว่า การประกอบด้วยศีลและความกรุณา เสมือนฟ้าร้องสะเทือน เมตตาจิตเสมือนเมฆใหญ่ที่ประเสริฐ โปรยฝนคืออมฤตธรรม ขจัดไฟแห่งกิเลสที่เร่าร้อน
อธิบาย : น้ำที่ใช้โปรยนั้น เป็นน้ำแห่งอมฤตธรรม ซึ่งคือพระนิพพาน อันมีสภาพสงบระงับ และเป็นทางที่ไม่ตาย